นายชัยรัตน์ ธรรมพีร อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 กล่าวว่า 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้เตรียมจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโดฯ ครั้งที่ 42” ในวันที่ 4-7 มีนาคม 2564 ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ภายในงานได้รวมโครงการบ้าน – คอนโดฯ จากหลากหลายบริษัทชั้นนำ ธนาคาร และพันธมิตร กว่า 285 บูธ พร้อมโปรโมชั่นไฮไลท์ที่น่าสนใจเฉพาะในงานนี้

 

         งาน“มหกรรมบ้านและคอนโดฯ ครั้งที่ 42” เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาฯ จากกลุ่มผู้บริโภค หลังจากช่วงโควิด-19 โดยราคาโปรโมชั่น พร้อมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารที่เข้าร่วมงานจะเป้นแรงจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้ออสังหาฯได้เร็วขึ้น

        สำหรับภาพรวมอสังหาฯในปี 64 มองว่า ตลาดแนวราบจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยจากกลุ่มเรียลดีมานด์ ส่วนตลาดคอนโดฯ จะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ โดยมีอัตราดูดซับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้คอนโดฯตามแนวรถไฟฟ้ายังคงเป็นสินค้าที่ลูกค้าให้ความสนใจอันดับต้นๆ 

        ขณะที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ เชื่อว่าหากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง ไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาซื้ออสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยเอง และเพื่อการลงทุน จากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกว่าดอกเบี้ยต่ำ, ค่าครองชีพถูก และไทยเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ดี

 

       อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้ส่งหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

          เนื่องจากสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงจุดวิกฤต ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

          ทาง 3 สมาคมฯ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ขอเรียนว่า กำลังซื้อในตลาดขณะนี้คงเหลืออยู่ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ผู้ซื้อเพื่อการลงทุน และผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้น จึงใคร่ขอนำเสนอมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้ซื้อทั้ง 3 กลุ่ม เร่งการตัดสินใจซื้อเพื่อประคองสถานการณ์ ดังนี้

1.ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราต่ำสุดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่ และบ้านมือสองจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าทุกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) มีระบบการพิจารณาที่เข้มงวดอยู่แล้ว

3.ขอให้มีการประกาศขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ

4.ขอให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด
– มูลค่า 3-5 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี
– มูลค่า 5-10 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี
– มูลค่าเกิน 10 ล้านต่อห้อง ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

5.ขอให้นำโครงการบ้านดีมีดาวน์ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาท ต่อราย เป็น 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564