กรอ.พาณิชย์ ที่ประชุมเห็นชอบในการเร่งแก้ไขปัญหา 15 ประเด็นสำคัญ เพื่อผลักดันการค้า การส่งออกของไทย ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2563 ที่ประกอบด้วย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและหาทางออกเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยใน 15 ประเด็นสำคัญ ภายใต้ผลกระทบของเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 โดยมั่นใจว่าจากความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้การค้า-การส่งออกไทยดีขึ้น หลังจากแนวโน้มการส่งออกดีขึ้น และการส่งออกทั้งปีต่ำกว่า ติดลบ 7%

แนวทางการแก้ไขปัญหา และแนวทางการผลักดันการส่งออกไทย ใน 15 ประเด็นหลัก คือ

         1.การเร่งรัดการส่งมอบข้าวของไทยไปจีน หลังลงนามบันทึกข้อตกลงส่งออกปริมาณ 1 ล้านตัน โดยส่งมอบไปแล้ว 7 แสน ยังคงเหลือ 3 แสนตันที่อยู่ระหว่างเร่งเจรจาส่งมอบ 2.การเร่งผลักดันส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม หลังติดปัญหาเรื่องการตรวจสอบรถยนต์ ซึ่งเกิดความซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกล่าช้า ที่ล่าสุดมีการแก้ไขปัญหาโดยการทำข้อตกลง 10 ประเทศในอาเซียนสำหรับการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ส่งออก ซึ่งทำได้จะทำให้การส่งออกเร็วขึ้น

         3.การแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มเคมีภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี ซึ่งอินเดียกำหนดมาตรฐานการส่งออกมีผลบัคับใช้ต้นปี 2564 นี้ โดยเร่งให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแก้ไขเรื่องนี้ 4.การส่งออกรถยนต์ใหม่ ที่ติดปัญหาเรื่องของไม่มีทะเบียนรถยนต์ทำให้การส่งออกติดขัดบริเวณท่าเรือ มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขเรื่องนี้

         5.การเร่งประชาสัมพันธ์สินค้าไทยปลอดเชื้อโควิด-19 ในหลายภาษาเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้า หลังจากบันทึกข้อตกลงจาก 4 กระทรวงหลักที่ให้การรับรองคุณภาพสินค้าไทย 6.การเร่งเจรจาแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ 7.การแก้ไขปัญหาเรื่องของค่าเงินบาท

         8.การแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าน้ำตาลไทยไปเวียดนาม ทำให้เวียดนามกล่าวหาเรื่องของการทุ่มตลาดน้ำตาล 9.การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยประสานไปยังธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ในการเพิ่มช่องทางหลักประกันในการกู้เงิน 10.การเร่งรัดเปิดด่านชายแดนสำคัญ โดยเฉพาะด่านไทย-สปป.ลาว ไทย-กัมพูชา 11.เร่งให้มีการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อสร้างความร่วมมือการค้า การส่งออก

         12.การพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในการส่งออกสินค้าชายแดน-ข้ามแดน การอำนวยความสะดวกในรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (CO) เนื่องจากมีความล่าช้า 13.การเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เช่น FTA ระหว่าง ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-อังกฤษ ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ,ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ EFTA 14.การผลักดันการลงนาม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป 15.การผลักดันการจัดทำกองทุน เอฟทีเอ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

         นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การหารือ กรอ.พาณิชย์ ครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่ทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการหาทางออกแก้ไขปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะเป็นส่วนช่วยให้เอกชนผลักดันการส่งออกและลดต้นทุนที่เกิดขึ้น

ส่วนทิศทางการส่งออกทั้งปี 2563 ของไทย ที่ประชุม กกร. มองเป้าหมายการส่งออกไทยทั้งปี ติดลบ 10-12% ในช่วงต้นปี และปรับประมาณการอย่างต่อเนื่องลงมาที่ ติดลบ 8-10% และจากสถานการณ์ที่ดีขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออก เชื่อว่าการส่งออกทั้งปี น่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะขณะนี้ตัวเลขการส่งออกรถยนต์ปรับตัวดีขึ้น

         นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมองว่าการส่งออกไทยทั้งปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ ติดลบ 6.5% จากทิศทางสถานการณ์ต่างๆดีขึ้น ส่งผลต่อภาคการส่งออกเริ่มขยับตัว นอกจากนี้ ยังประเมินว่า การส่งออกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้เชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 น่าจะติดลบไม่มาก