สบน. คาดปี 65 หนี้สาธารณะหลุดกรอบวินัยการคลัง เผยคลังซุกหนี้ประชานิยม-ค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมกว่า 9.5 ล้านล้านบาท สำนักงบฯ เตรียมตั้งงบฯ ใช้หนี้แบงก์รัฐ รวม 4 ปี 4.5 แสนล้าน

8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเงินงบประมาณ (งบกลาง)ในมือมากกว่าทุกกระทรวง โดยใช้ทุกกลยุทธ์ทั้งจัดงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 3 ครั้ง โยกงบฯ ปกติมาเติมงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น 5 ครั้ง ยิ่งในปีงบประมาณ 2563 หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชนแล้ว ในปีนี้ยังมีการโยกงบฯ ปกติ 88,453 ล้านบาท มาใส่ไว้ในงบกลางสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ เพื่อสำรองไว้ให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีใช้จ่ายยามฉุกเฉิน แก้ปัญหาโควิดฯ และพิบัติต่างๆ

แต่ที่น่าสนใจ ปฏิบัติการโอนงบฯ ปกติปีนี้ มีการโยกงบฯ ชำระหนี้คืนที่รัฐบาลกู้ ซึ่งปีงบประมาณ 2563 จัดงบคืนเงินต้นทั้งหมด 88,780 โดยโยกงบชำระคืนต้นเงินกู้มาจำนวน 35,303 ล้านบาทมาโปะงบกลาง คงเหลืองบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ 53,477 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1.7% ของวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดให้ดำรงสัดส่วนงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำที่ 2.5% ของวงเงินงบประมาณโดยรวมในปีนั้นๆ

ส่วนงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามกฎหมายกำหนดเพดานการตั้งงบฯ ประเภทนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 3.5% ของวงเงินงบประมาณโดยรวมในแต่ละปี ปรากฏว่าการโยกงบฯ ปกติ 88,453 ล้านบาทมาใส่ไว้ในงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นครั้งนี้ ทำให้สัดส่วนงบกลางต่องบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.76% ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะส่ง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ให้สภาผ่านความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจึงต้องมานั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ เพื่อออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ฉบับที่ 3 แก้ไขกรอบวินัยการเงินการคลัง 2 จุด คือ การขยายเพดานงบกลาง รายการสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จาก 3.5% เพิ่มเป็น 7.5% ของวงเงินงบประมาณโดยรวมในแต่ละปี และปรับลดสัดส่วนงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำจาก 2.5% ลงมาเหลือ 1.5% ของวงเงินงบประมาณ

อย่างไรก็ตามในภาวะหรือสถาการณ์เช่นนี้ การใช้เงินเยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำ “ไทยพับลิก้า” นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

คราวนี้มาดูตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 มียอดสาธารณะคงค้างอยู่ที่ 7.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 44% ของ GDP ที่ผ่านมาก็มีผู้อ่านทางบ้านสอบถามกันมามากว่าหนี้ก้อนนี้ได้นับรวม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้วหรือยัง คำตอบก็คือกำลังทยอยเข้าไปรวมอยู่ในหนี้สาธารณะทันทีที่กระทรวงการคลังมีการกู้เงิน

ปี’63 กู้เพิ่ม 1.49 ล้านล้านบาท

ตามแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563) ที่ สบน. นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 คาดว่า ภายในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจะมีการก่อหนี้ใหม่ หรือ “กู้เงินเพิ่ม” ทั้งสิ้น 1,497,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากแผนงานฯ เดิม 603,493 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐบาลกู้เงิน 1,331,677 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจกู้ 163,829 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐอื่นๆ กู้อีก 1,992 ล้านบาท สำหรับวงเงินกู้ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 600,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท คาดว่าจะไปกู้เงินในปีงบประมาณ 2564

หากมีการกู้เงินจนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแผนก่อหนี้ใหม่ 1,497,498 ล้านบาท สบน. คาดว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 51.84% ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 60%

สบน. คาดปี’65 หนี้สาธารณะหลุดกรอบวินัยการคลัง

แต่ถ้าดูตามกราฟที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ จะเห็นได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเริ่มทะลุกรอบวินัยการเงินการคลัง (เกิน 60% ของ GDP) ในช่วงปีงบประมาณ 2565 โดยการคาดการณ์ครั้งนี้ ทาง สบน.ใช้ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีงบประมาณ 2563 จะติดลบ 5.3% และปีงบประมาณ 2564 กลับมาขยายตัว 3.0% ต่อปี แต่ถ้า GDP ติดลบมากกว่าที่ ธปท. ประมาณการเอาไว้ ก็จะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนด

และจากการที่รัฐบาลทยอยกู้เงินเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ถึงปีงบประมาณ 2564 แม้อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่เนื่องจากมีการกู้เงินเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลทำให้รัฐบาลมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ส่งผลทำให้สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ที่ 35% โดยในปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ในปีนี้จะอยู่ที่ 21.22% และในปีงบประมาณ 2565 จะเพิ่มเป็น 42.07% หากเป็นไปตามที่ สบน. ประมาณการไว้ คาดว่ารัฐบาลอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายวินัยการเงินการคลังอีกรอบ

นอกจากปัญหาหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว รัฐบาลมีภาระงบประมาณจากการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐในอดีต หรือที่เรียกว่า “ประชานิยม” ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SMEs โดยให้แบงก์รัฐสำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ในภายหลัง

รวม 5 ปี ใช้หนี้ประชานิยมแล้ว 4 แสนล้าน ยังค้างจ่ายอีก 8 แสนล้าน

จากข้อมูลรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระในการจัดหางบประมาณมาใช้ในการดำเนินนโยบายรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี รวม 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แบงก์รัฐไปแล้วทั้งสิ้น 419,686 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ยังค้างจ่ายเงินชดเชยให้กับแบงก์รัฐจากการดำเนินโครงการนโยบายรัฐอีก 858,085 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28.60% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 (3,000,000 ล้านบาท) ซึ่งตามกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดให้รัฐจ่ายชดเชยให้หน่วยงานของรัฐจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามนโยบายรัฐ รวมกันไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี

ติดหนี้ ธ.ก.ส. กว่า 7 แสนล้านบาท

สำหรับสถาบันการเงินที่รัฐบาลติดค้างจ่ายเงินชดเชยจากการดำเนินโครงการนโยบายรัฐมากที่สุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งสิ้น 756,152 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดค้างจ่ายเงินชดเชยโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร 279,821 ล้านบาท และโครงการนโยบายรัฐอื่นๆ อีก 476,331 ล้านบาท ลำดับถัดไปคือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้างจ่ายเงินชดเชย 53,695 ล้านบาท และธนาคารออมสิน 53,695 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 4,666 ล้านบาท, ธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 4,184 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ค้างจ่าย 1,106 ล้านบาท

สำนักงบฯ เตรียมตั้งงบฯ ผ่อนหนี้แบงก์รัฐ รวม 4 ปี 4.5 แสนล้าน

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้จัดทำประมาณการภาระงบประมาณที่ต้องจ่ายชดเชยให้กับแบงก์รัฐ จากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้า รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 454,643 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายชดเชยให้กับแบงก์รัฐ 95,394 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรงบประมาณมาจ่ายชดเชยให้กับแบงก์รัฐ 136,607 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2566 จัดสรรงบประมาณมาจ่ายชดเชย 119,514 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 อีก 103,128 ล้านบาท

รวมค้างจ่ายหนี้แบงก์รัฐ-ประกันสังคม เกือบ 1 ล้านล้าน

นอกจากนี้รัฐบาลยังค้างเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 กำหนดให้มีการจ่ายเงินสมทบ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกครั้งที่จ่ายค่าจ้าง ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมตามเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยในรายงานความเสี่ยงทางการคลังของ สศค. ระบุว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 96,450 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการค้างจ่ายเงินสมทบตามาตรา 33 และมาตรา 39 ประมาณ 95,572 ล้านบาท และค้างจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 40 อีก 878 ล้านบาท หากนำมารวมกับยอดเงินชดเชยที่รัฐบาลยังไม่จ่ายให้กับแบงก์รัฐ 858,085 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 รัฐบาลจะมีภาระงบประมาณที่ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 954,535 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่รัฐบาลต้องรับภาระตามมติ ครม. อีก 239,893 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ยังไม่รู้เมื่อไหร่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยให้กับหน่วยงานเหล่านี้

ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะเข็นโครงการประชานิยมใหม่ๆ ออกมา ก็ควรคำนึงถึงหนี้เก่าและภาระผูกพันต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการทางการคลังในอนาคตต่อไป

SOURCE :thaipublica.org