เปิดบทวิเคราะห์ ทำไม "เงินบาท" ถึงแข็งค่าขึ้น ทั้งที่วิกฤติโควิด-19 ในไทย เมื่อเทียบกับต่างชาติมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีปัจจัยภายในและภายนอกอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบ และหลังจากนี้แนวทางในการลดบาทแข็งต้องทำอย่างไร?

ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจไทยจากการรายงานของสภาพัฒน์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แสดงให้เห็นชัดเลยนะครับว่าผลกระทบของโควิด-19 นั้น ส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและภายนอกประเทศอย่างรุนแรง

ยกตัวอย่าง การบริโภคภายในประเทศที่หดตัวลงกว่า 6.6% ถือเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่โดยทั่วไปแล้วเราพึ่งพาความต้องการจากต่างชาติมาต่อเนื่องอย่างยาวนาน ก็มีภาพการหดตัวที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้หดตัวกว่า 12.4% ทำให้แนวโน้มการส่งออกในปีนี้หดตัวมากที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ส่งผลให้เราเห็นธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวและส่งออกได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

แม้แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ประเด็นที่ยังคงกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คือ ค่าเงินบาทไทยที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ภายหลังจากช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องในเชิงลบต่อรายได้ของธุรกิจส่งออก

การแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้ อาจเป็นที่แปลกใจของผู้อ่านบางท่าน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการแข็งค่าของเงินบาท มีต้นเหตุมาจากความต้องการในสกุลเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการแลกเงินบาทเพื่อใช้ในการท่องเที่ยว หรือจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ซึ่งความต้องการเงินบาทที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ส่งผลให้มูลค่าของเงินบาทไทยสูงขึ้น และทำให้เงินบาทมีการแข็งค่าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงเห็นภาพเช่นเดียวกันว่า ภายหลังจากการปิดน่านฟ้าไปตั้งแต่เดือนเมษายน ประเทศไทยเราก็ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเป็นเวลายาวนานเกือบ 5 เดือน แล้วเหตุใดเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

ในประเด็นนี้ผมต้องขออธิบายว่า จริงๆ แล้วการแข็งค่าของเงินบาทไทย มีผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ ปัจจัยภายนอกที่สำคัญมีเหตุผลมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ที่ส่งผลให้ไม่แค่สกุลเงินบาทที่มีการแข็งค่า แต่ยังส่งผลกระทบไปยังสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียให้มีการแข็งค่าด้วยเช่นกัน

ซึ่งการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์นั้น มีผลมาจากปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบที่เพิ่มมากขึ้น จากมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐที่มีเป้าหมายในการสร้างสภาพคล่องในตลาดเงินทุนสหรัฐในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 การที่ธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบในระยะสั้นเป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ในระยะยาว การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินดอลลาร์ทำให้มูลค่าของดอลลาร์ลดลง และส่งผลทำให้สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว

ในส่วนของประเด็นภายในประเทศ การระบาดของโควิด-19 ลดความต้องการเงินบาทของนักท่องเที่ยวต่างชาติจริงอย่างที่เราคาดกัน ส่งผลให้ดุลบริการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงินของไทยในไตรมาสที่ 2 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนั้น ดุลการชำระเงินของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 กลับมีการเกินดุลเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการเกินดุลของบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่มีการเกินดุลกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเกินดุลที่มากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ที่มีวิกฤติการเงินโลก สาเหตุหลักของการเกินดุลมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากภาคธุรกิจและสถาบันการเงินปรับลดความเสี่ยงในการลงทุนต่างประเทศผ่านการขายสุทธิตราสารหนี้และการถอนเงินฝากในต่างประเทศ ประกอบกับการจ่ายคืนเครดิตทางการค้าจากลูกหนี้ต่างประเทศ จึงเกิดเป็นกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาพักในประเทศไทย เป็นภาพที่คล้ายคลึงกับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤติการเงินโลก

เป็นที่น่าสังเกตนะครับว่า ทั้งประเด็นเรื่องการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และประเด็นเรื่องการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก จนส่งผลกดดันค่าเงินบาทให้มีแนวโน้มแข็งค่า ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต การบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรช่วยกันหาทางช่วยเหลือต่อไปครับ

SOURCE : www.bangkokbiznews.com