กฎบัตรแห่งชาติ จุดพลุระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก เร่งระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน ผลักดัน นครสวรรค์-สุพรรณบุรี เป็น ศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบรางและทางอากาศ ผุด แนวรถไฟใช้พลังงานไฟฟ้าเชื่อมนครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-อ่างทอง-สิงห์บุรี-สุพรรณบุรี-ราชบุรี ออกสู่ภาคใต้ เพื่อเติมเต็มระบบโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ เปิดเผย UCD News ว่าผลการประชุมระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตก เรื่อง การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตก ที่จัดโดยกฎบัตรแห่งชาติ เทศบาลนครนครสวรรค์ กฎบัตรนครสวรรค์ และเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าในพื้นที่ ไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 นั้นมีสรุปข้อเสนอการพัฒนาโครงข่ายระบบราง การพัฒนาเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนการพัฒนา ดังนี้ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง โดยที่ประชุมเห็นชอบเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาออกแบบและพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางราง 2 สายทาง และท่าอากาศยาน ประกอบด้วย
1.1 รถไฟทางคู่สายพิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก โดยเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟสายนครสรรค์-แม่สอดที่จุดตัดจังหวัดตาก (พัฒนาจุดเชื่อมต่อเป็นสถานีขนส่งเชื่อมการเดินทางทางรางและทางถนน)
1.2 รถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-สุพรรณบุรี โดยเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟสายสุพรรณบุรี-ราชบุรีตามแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และ 1.3 ท่าอากาศยานนครสวรรค์ พื้นที่ 7,000 ไร่ ใกล้มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์

ทั้งนี้ โครงข่ายที่เสนอให้ศึกษาออกแบบจะเป็นโครงข่ายรถไฟที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลางตะวันตกกับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างฝั่งตะวันตก นับเป็นการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่พื้นที่ 5 จังหวัดที่ขาดแคลนระบบการเดินทางด้วยการขนส่งทางราง และการเชื่อมต่อการเดินทาง การขนส่ง โลจิสติกส์ด้านตะวันตกของประเทศ

ในส่วนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แบ่งเป็นการยกระดับศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมระดับจังหวัดของ 11 จังหวัดประกอบด้วย ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี เป็นศูนย์ทีมีศักยภาพในการสร้างงาน เน้นการจ้างงานนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำในมิติทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยภารกิจการยกระดับศักยภาพของศูนย์เศรษฐกิจ เทศบาลในพื้นที่จะร่วมมือกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว แบ่งกลุ่มการพัฒนาออกเป็น การท่องเที่ยวพื้นที่เมืองมรดกโลก เมืองเก่าและชุมชนดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเกษตรนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงการประชุม และการท่องเที่ยวสุขภาพ เบื้องต้น โดยได้ขอความอนุเคราะห์คณะกรรมการกฎบัตรสุขภาพและกฎบัตรเกษตรอาหารปลอดภัยนครสวรรค์เป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนข้อมูลและขับเคลื่อนการพัฒนาในช่วงต้น ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเทศบาลในพื้นที่

สำหรับความชัดเจนของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์นั้นขณะนี้พบว่าเทศบาลนครสวรรค์เร่งพัฒนาอาคารท่าข้าวกำนันทรง (อาคาร 5,000 ตารางเมตร) เป็นศูนย์การประชุมย่อยขนาด 1,500 ที่นั่งให้เป็นศูนย์ MICE รองรับการบริการ

ในส่วนการพัฒนาด้านสุขภาพ การเกษตรและอาหารปลอดภัย กฎบัตรแห่งชาติจะบูรณาการกฎบัตรสุขภาพกับกฎบัตรเกษตรอาหารปลอดภัย พัฒนาเข้มข้นในเขตเทศบาลเป้าหมาย 3 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลนครสวรรค์ เทศบาลเมืองชัยนาท เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี (อาจพิจารณาเทศบาลนครพิษณุโลกและเทศบาลนครแม่สอดเพิ่มเติม) โดยเขตการส่งเสริมสุขภาพจะได้รับการพัฒนาเป็นเขตอาหารปลอดภัย พร้อมด้วยเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก โรงพยาบาล พร้อมทั้งบริษัทผู้ให้บริการเมืองอัจฉริยะเข้าร่วมสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาด้วย

นอกจากนั้นกฎบัตรแห่งชาติจะร่วมกับภาคีองค์กรเครือข่าย นำเสนอข้อมูลต่อผู้บริหารแต่ละเทศบาล ผู้นำชุมชน ผู้นำภาคเอกชนในพื้นที่ พร้อมเสนอความเห็นไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบต่อไป

“นอกจากแนวเส้นทางจะเชื่อมจากนครสวรรค์ไปยังชุมทางหนองปลาดุก จ.ราชบุรีที่จะมีส่วนยกระดับโลจิสติกส์ของภาคเหนือออกสู่ประตูทางภาคใต้ผ่านประตูทางทะเลที่ระนอง ชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ได้แล้วยังต้องพัฒนาเส้นทางจากสถานีบ้านภาชีให้เชื่อมไปยังสุพรรณบุรีได้อีกด้วย เพื่อเปิดประตูออกทางทะเลภาคใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเมื่อแผนทุกอย่างชัดเจนจะนำเสนอแผนการขับเคลื่อนต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมท่าอากาศยานต่อไป ซึ่งเดือนกันยายนนี้จะมีการจัดประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในพื้นที่ จากนั้นจะนำเสนอผ่านไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งแนวเส้นทางรถไฟและสนามบิน แม้ว่ารฟท.จะศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นไปบางส่วนแล้วก็ตามแต่อย่างไรคงต้องรีวิวผลการศึกษาให้ชัดเจนอีกครั้งว่าจะเกี่ยวข้องกับการวิจัยระเบียงเศรษฐกิจอย่างไร จะมีศักยภาพอย่างไรเพิ่มได้อีกบ้าง”

ดึงส.ส.ในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อน
นายฐาปนากล่าวอีกว่าในวันที่ 31 สิงหาคมนี้นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จ.สุพรรณบุรี จะเข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และหัวหน้าส่วนราชการเพื่อนำกลุ่มบริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด แนะนำโครงการรถไฟฟ้า ตามที่ทางกฎบัตรแห่งชาติมีแผนก่อสร้างเชื่อมโยงจังหวัดสุพรรณบุรีกับกลุ่มจังหวัดตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตก โดยเฉพาะจากสถานีปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ไปยังสถานีชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เบื้องต้นจะใช้หัวรถจักรใช้พลังงานไฟฟ้าที่กลุ่มสกุลฎ์ซีมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต เพื่อสร้างการรับรู้แผนการพัฒนาอย่างทั่วถึงต่อไป

“รูปแบบรถไฟทางคู่เชื่อมจากบ้านโป่งไปยังสุพรรณบุรีและจากนครสวรรค์ไปสุพรรณบุรี ที่แนวเส้นทางจะผ่านจ.พิจิตร จ.ชัยนาท จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี ซึ่งจัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางใหม่ในโซนพื้นที่ดังกล่าว รูปแบบที่ต้องการหัวรถจักรให้ใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาเมืองจึงเชื่อมกับทุกจังหวัดเพื่อขยายการเดินทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ให้บริการทั้งขนสินค้าและผู้โดยสาร ขณะนี้ได้มีการหารือ ส.ส.ในพื้นที่แล้วหลายจังหวัด โดยภายในเดือนกันยายนนี้ ส.ส.กลุ่มภูมิภาคระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตกจะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไป”



กฎบัตรแห่งชาติเน้นขับเคลื่อนด้วย 4 มิติ

ด้านนายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ เอ็ม อาร์ เอเชีย จำกัด กล่าวเสริมว่ากฎบัตรแห่งชาติเห็นว่า “นครสวรรค์” เหมาะที่จะเป็นศูนย์การคมนาคมขนส่งของภูมิภาค(ภาคกลางตอนบน-ภาคเหนือตอนล่าง) ที่สามารถพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังสุพรรณบุรีออกไปสู่ราชบุรีและกาญจนบุรีเพื่อไปยังภาคใต้และเชื่อมผ่านไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายที่เมียนมามีแผนการพัฒนารองรับไว้แล้วนั้นได้อีกด้วย

โดยจังหวัดนครสวรรค์เหมาะเป็นศูนย์กลางเชื่อมภูมิภาค ตลอดจนเป็นประตูการค้าเชื่อมไปยังประเทศอื่นๆได้อีกหลายเส้นทาง กลุ่มจังหวัดในโซนตะวันตกมีผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจมากมาย ดังนั้นจึงน่าจะใช้ระบบรางเข้าไปเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ นอกเหนือจากทางถนนในปัจจุบันเท่านั้นซึ่งพบว่ามีต้นทุนที่สูงกว่าระบบรางหลายเท่าตัว ระบบรางขนได้มากกว่า จึงมีแนวคิดร่วมกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

จุดประกาย “ศูนย์กลางด้านสุขภาพ”
“แนวเส้นทางนี้ถ้าเชื่อมกับแม่สอด ตาก กำแพงเพชร ที่นครสวรรค์ จากนั้นขึ้นไปบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ออกไปทางนครพนมได้อีกด้วย และเมื่อลงมาเชื่อมกับชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ไปยังราชบุรี จะเปิดเกตเวย์ออกสู่ภาคใต้โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯเพื่อออกไปสู่แหลมฉบัง นอกจากนี้ยังมองอีกมิติที่นอกเหนือจากเป็นฮับทางเศรษฐกิจ ยังเป็นฮับการบริการด้านสุขภาพหรือศูนย์กลางทางการแพทย์ได้อีกด้วย รองรับได้ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ดังนั้นจึงจะเป็นการขับเคลื่อนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วย 4 มิติ คือ มิติที่ 1 ในเชิงศูนย์กลางเศรษฐกิจด้านสุขภาพ (wellness) มิติที่ 2 ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์การค้าด้านการเกษตร มิติที่ 3 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมบางส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมเชิงเกษตร มิติที่ 4 ศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่ง ให้จุดนครสวรรค์เชื่อมไปยังภูมิภาคนั้นๆได้โดยไม่ต้องใช้เฉพาะจุดดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิเท่านั้น”

หนุนพัฒนาฮับที่ปากน้ำโพ
ประการสำคัญยังเชื่อว่าหากเน้นกรณีศูนย์กลางด้านสุขภาพจะเน้นระบบรางเพื่อการขนผู้โดยสารมากกว่า ส่วนจุดแข็งด้านการเกษตรของอีกหลายจังหวัดในโซนนี้ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นกรณีที่มีรถไฟทางคู่ และรถไฟเชื่อมโยง อาทิ ไฮสปีดเทรนจึงน่าจะเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว

“สถานีปากน้ำโพพื้นที่กว้างหลายพันไร่รองรับการพัฒนาศูนย์กลางกระจายสินค้าได้อย่างดี ระยะห่างจากตัวเมืองนครสวรรค์เพียง 2 กม. ฮับที่ปากน้ำโพจึงสำคัญสามารถเชื่อมไปยังเส้นทางอื่นๆได้หลากหลาย ดังนั้นไฮสปีดเทรนสถานีไปอยู่ที่ชัยนาทจึงเป็นการสูญเสียโอกาสการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของนครสวรรค์ไปในที่สุด ดังนั้นหากปากน้ำโพเป็นจุดเชื่อมไฮสปีดเทรน เป็นจุดเชื่อมรถไฟทางคู่เส้นทางจากแม่สอด ตาก กำแพงเพชรมาผ่านนครสวรรค์ และเส้นทางจากนครสวรรค์ไปสุพรรณบุรี - ราชบุรีจึงจะเป็น 3 จุดเชื่อมต่อที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก ประการสำคัญแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตกยังจะใช้เป็นการสร้างศักยภาพด้านโลจิสติกส์ออกได้ 2 ฝั่งทะเลโดยไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปขุดคลองไทยหรือคอขอดกระจำนวนมากก็สามารถใช้แนวระบบรางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตกนี้เข้าไปแก้ไขปัญหานั้นๆได้จะดีกว่าหรือไม่”



ขอบคุณข้อมูลจาก www.terrabkk.com/%20https:/www.thaimotnews.com/01-30-08/