“โบรกเกอร์” ห่วงการเมืองกดดันหุ้นไทย ฟันธงแกว่งตัวกรอบแคบ รอดูสถานการณ์ ย้ำหาก “รุนแรง-ยืดเยื้อ” ดัชนีส่อหลุด 1,300 จุด “หยวนต้า” ชี้หนักสุดอาจแตะ 1,160-1,230 จุด “เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” แนะหันลุยหุ้นปลอดภัยและหุ้นที่ได้อานิสงส์จากวัคซีน

การเมืองเริ่มกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะในเดือนก.ย.นี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1ก.ย.จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศจำนวน 3 ฉบับ ตามด้วยวันที่ 9 ก.ย. ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 

หลังจากนั้นวันที่10 ก.ย. ประชุมสภาฯ พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อด้วยวันที่ 16-18 ก.ย.ประชุมสภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี2564 และ 23-24ก.ย.ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับในวาระที่1ชั้นรับหลักการ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.ด้วย

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่าปัจจัยการเมืองเริ่มเข้ามากดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่ในวันที่19 ก.ย.นี้ ซึ่งมีพัฒนาการในเชิงลบมากขึ้น ที่จะมีการยกระดับการชุมนุมและมีความยืดเยื้อ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ตกผลึกในระยะเวลาอันสั้นเนื่องจากมีกระบวนการหลายขั้นตอนซึ่งอาจจะไม่ทันใจกลุ่มผู้ชุมนุม

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เข้ามาลงทุน ทำให้ดัชนีเคลื่อนไหวต่ำกว่า(under perform)ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงสหรัฐจะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.จะทำให้นักลงทุนระมัดระวังลงทุนมากขึ้น โดยประเมินแนวรับที่1,295-1,300 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,350-1,380จุด

“หากการเมืองมีความยืดเยื้อ แต่ไม่รุนแรงและไม่มีข่าวลบจากต่างประเทศดัชนีอยู่ที่ 1,300-1,350 จุด โดยหากเกิดความรุนแรงก็อาจหลุด 1,300 จุดอยู่ที่ 1,280จุด ซึ่งเราให้น้ำหนักในประเด็นดังกล่าวน้อย แต่หากการชุมนุมจบเร็วดัชนีอาจทะลุ 1,350จุด ได้ ”

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน หากดัชนีอยู่ในกรอบ1,300-1,350 นักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้แนะเก็งเข้าเก็งกำไร โดยเลือกลงทุนหุ้นรายตัว แต่นักลงทุนระยะยาวนั้น แนะซื้อเมื่อหุ้นอ่อนตัว โดยหุ้นแนะนำเป็นหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นช้า และได้ประโยชน์จากความคืบหน้า วัคซีน เช่น ค้าปลีก และขนส่ง

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)กล่าวว่า ปัจจัยดังกล่าวน่าจะกดดันตลาดหุ้นไทยในเดือนก.ย.พอสมควร โดยประเมินว่าดัชนีอาจจะแกว่งตัว(ไซด์เวย์) 

อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามดูสถานการณ์ใกล้ชิดหากไม่มีความรุนแรงใดๆ เชื่อว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวในกรอบ1,300-1,360 จุด แต่ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น ดัชนีอาจปรับลดลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ 1,270-1,280 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะเลือกลงทุน 2 ธีม คือ หุ้นปลอดภัย ที่จ่ายปันผลสูง และมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) ไม่สูง เช่น บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS)โดยจ่ายปันผลสูงปีละ 7% และค่าP/Eเพียง 7 เท่า รวมถึงผลดำเนินงานครึ่งปีหลังยังเติบโตจากงานในมือที่สูง 

อีกธีม คือ หุ้นที่ได้รับผลดีจากพัฒนาการที่ดีของวัคซีน และไตรมาส2ปีนี้ ปรับตัวลดลงไปมากแต่มีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส3 เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แนะนำ บมจ.ซีเค พาวเวอร์( CKP) หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว แนะทยอยซื้อบมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(MINT) และกลุ่มไฟแนนซ์ แนะบมจ. เมืองไทย แคปปิตอล(MTC) และกลุ่มอุปโภคบริโภค ที่ยอดขายสาขาเดิมมีแนวโน้มเติบโตแนะบมจ.ดูโฮม(DOHOME) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แนะนำเทรดดิ้ง บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)(DELTA) และบมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์(KCE)

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นไทยเดือนก.ย. มีปัจจัยกดดันหลายเรื่องโดยเฉพาะการเมืองในประเทศที่จะมีการชุมนุมในวันที่19 ก.ย. ทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีปรับตัวขึ้นไม่มาก และยังคงเคลื่อนไหวunderperform ตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมองแนวรับที่ 1,270-1,300 จุด แนวต้านที่ 1,350-1,380จุด

“เดือนก.ย.น้ำหนักการเมืองเป็นปัจจัยกดดันดัชนีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจ้างงานจะหักล้างกับการเมืองในประเทศได้หรือไม่ ”

ทั้งนี้ประเด็นการเมืองในประเทศบริษัทประเมินผลกระทบต่อดัชนีไว้ 3 กรณี คือ กรณีดีสุด การชุมนุมจบเร็วนำสู่การเจรจาแก้ไขรัฐธรรมในปลายเดือนก.ย. ดัชนีจะลดภาวะunderperform ภูมิภาค ที่ปัจจุบันunderperform อยู่เกือบ5% ค่าดัชนีอยู่ที่ 1,350-1,380 จุด

กรณีแนวโน้มเป็นกลาง การชุมนุมไม่รุนแรง แต่ยืดเยื้อดัชนีก็จะอยู่ที่ 1,250-1,270 จุด  กรณีเลวร้าย คือเกิดความรุนแรง ซึ่งไปย้อนไปดูปี2535 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองดัชนีปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุด(พีค) ประมาณ16% ซึ่งจุดสูงสุดของดัชนีรอบนี้อยู่ที่ 1,450 จุด ดัชนีจะปรับตัวลงอยู่ที่ 1,160-1,230 จุด แต่จากที่หุ้นไทย under perform ภูมิภาค หากดัชนีมีการปรับตัวลดลงก็จะลงไม่มาก โดยประเมินดาวน์ไซด์อยู่ที่ 3-5% จากจุดพีค ดัชนีก็จะอยู่ที่ 1,160-1,230 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า เดือน ก.ย.ตลาดหุ้นจะไซด์เวย์ในกรอบ 1,270 -1,350จุด เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาหนุน ขณะที่ปัจจัยการเมืองก็ต้องจับตาทั้งการเมืองต่างประเทศที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้ง และการเมืองในประเทศที่จะมีการชุมนุม ที่มีผลต่อบรรยากาศลงทุนและอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยอาจปรับฐานได้ และทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาลงทุน แต่หากขายหุ้นออกมาก็ไม่มาก เพราะ ปัจจุบันถือครองหุ้นไทยต่ำมากแล้ว   โดยหากดัชนีปรับตัวขึ้นมาเป็นโอกาสขายทำกำไร แต่หากปรับตัวลดลงแรงเป็นจังหวะที่เข้าซื้อที่ดีสุด     

   สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำลงทุนหุ้น 4 กลุ่ม ที่มีความแข็งแกร่งกับปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ และกำไรฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง2563  คือ 1.กลุ่มบริหารหนี้  ได้ประโยชน์จากNPL ที่ปรับขึ้น แนะนำบมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส

(JMT) 2.กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ที่อิงกับการอุปโภคบริโภค แนะนำบมจ. บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX)   3.กลุ่มปั๊มน้ำมัน จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหากไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น แนะนำ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี(PTG) และ 4. อิเล็กทรอนิกส์ แนะนำ KCE

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นเดือนก.ย.คาดแกว่งตัวในกรอบ 1,280-1,370 จุด ปัจจัยสำคัญคือประเด็นการเมืองในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น19 ก.ย.  ส่วนปัจจัยต่างประเทศเรื่องการเจรจาการค้าหว่างสหรัฐกับจีน และปัจจัยที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.ที่ขณะนี้คะแนนเสียงของ โจ ไบเดน นำ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 8% 

 ทั้งนี้หากดัชนีปรับตัวย่อตัวลงมาเป็นจังหวะซื้อ เพราะการปรับประมาณการกำไรบจ.ลงมีโอกาสน้อยแล้ว และปัจจัยการเมืองแม้จะกดดันและยืดเยื้อแต่จะไม่รุนแรง

SOURCE : www.bangkokbiznews.com