งานวิจัยในกลุ่มนี้ สรุปไว้ว่า ผู้ชายที่เริ่ม"หัวล้าน"ตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำกว่าผู้ชายทั่วไปราว 29–45 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าอาจมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมน

อาการผมน้อยหรือหัวล้านนี่ เป็นปัญหาใหญ่ของหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั่วโลกนะครับ เอกสารชื่อ Alopecia Market Analysis By Treatment (Oral, Topical, Injectable), By Gender (Men, Women) And Segment Forecasts To 2024 ที่จัดทำโดยบริษัท Grand View Research ประเมินว่า ตลาดที่เกี่ยวข้องผลิตภัณฑ์ และกระบวนการแก้หัวล้านในปี ค.ศ.2015 มีขนาดใหญ่ถึงราว 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีทีเดียว

แสดงว่า มีคนที่เห็นว่าอาการผมน้อยนี่ คุณผู้ชายจำนวนมากถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว

แม้แต่ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ก็ยังเอาลักษณะหัวล้านไปใส่ไว้ในตัวโกงคือขุนช้างด้วย โดยระบุว่าเป็นหัวล้านแบบ “ราชคลึงเครา” (หรือราชครึงเครา) ที่มีลักษณะเฉพาะคือ แม้ผมบนศีรษะจะน้อย แต่กลับมีหนวด มีเคราดก และมีขนหน้าดกอีกต่างหาก

พวกฝรั่งมังค่าก็มองว่าหัวล้านไม่หล่อ ไม่เท่ เหมือนกันนะครับ อันที่จริงเคยมีงานวิจัยที่ทำในมหาวิทยาลัยโอลด์โดมิเนียน (Old Dominion University) ในปี ค.ศ. 1990 (J. Appl. Soc. Psych., Feb. 1990, doi.org/10.1111/j.1559-1816.1990.tb00404.x) ที่สรุปว่า สำหรับแรกพบกันนั้น คนที่ผมน้อยจะมีลักษณะดึงดูดทางกายภาพน้อยกว่าคนทั่วไปหรือคนที่มีผมเยอะกว่า

แถมยังทำให้คนเดาอายุผิดไปมากอีกด้วย

วิธีการทดลองเค้าก็ทำแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาคือ เอาผู้ชายและผู้หญิงมาอย่างละ 54 คน จากนั้นก็ให้ดูรูปภาพสไลด์ของคนรวม 18 คู่ โดยแต่ละคู่จะมีลักษณะหัวล้าน (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มควบคุม (หัวไม่ล้าน) แต่งานวิจัยเรื่องนี้มีคนทำอยู่บ้างพอสมควร ผลที่ได้ก็มีส่วนเหมือนและส่วนแตกต่างอยู่บ้าง รวมทั้งแง่มุมที่แตกย่อยออกไปอีก เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ethology and Sociobiology (2(2):99-117, December 1996, doi.org/10.1016/0162-3095(95)00130-1) ระบุว่า แทนที่จะเป็นผลร้ายเพียงอย่างเดียว การที่หัวล้านก็มีผลดีอยู่หลายประการ และสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการเสียด้วย

เค้าใช้นักศึกษาปริญญาตรีที่อาสาสมัครเป็นตัวทดลอง โดยใช้ผู้ชายและผู้หญิงอย่างละ 102 คน จากนั้นเอารูปถ่ายนายแบบที่อายุตั้งแต่ 19–25 ปี ที่ถ่ายไว้ใน 6 รูปแบบคือ (1) ผมสั้น มีหนวดเคราดำ (2) ผมสั้น แต่โกนหนวดโกนเครา (3)-(5) มีผมสั้นยาวแตกต่างกันไป และสุดท้าย (6) มีผมเต็มศีรษะ แต่เป็นผมสีน้ำตาลเข้มของวิกที่ใส่

โดยทีมงานให้ผู้ทดลองคัดเลือกผู้ชายตามความรู้สึก แบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ คือ (1) ความดึงดูดของหน้าตา (2) ความก้าวร้าว (3) ความช่างเอาอกเอาใจ และ (4) ความสามารถในการเข้าสังคม โดยในรายละเอียดยังแยกออกได้เป็นความซื่อสัตย์ ความเฉลียวฉลาด และลักษณะนิสัยเชิงสังคมบางอย่างไว้ด้วย

ผลที่ได้น่าแปลกใจทีเดียวครับ

ทีมงานสรุปว่า คนกลุ่มนี้มองว่า คนหัวล้านเป็นคนที่ซื่อสัตย์ เฉลียวฉลาด มีการศึกษา ปรับตัวเข้ากับสังคมเก่ง และมีความเป็นผู้นำ ซึ่งลักษณะที่ว่ามาทั้งหมดก็ดูดี จะมีข้อเสียอยู่หน่อยก็ตรงที่ลักษณะหัวล้านลดความดึงดูดสายตาเพศตรงข้ามไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากจนน่าตกใจ

ลักษณะหัวล้านเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ด้วยนะครับ แต่ก็พบในคนทุกหมู่เหล่า มักเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนบางอย่าง เช่น ดีเอชที (DHT, dihydrotestoserone) ที่สร้างมาจากฮอร์โมนเพศชายชื่อ เทสโทสเทอโรน (testosterone) อีกที โดยหากมี DHT มากไป เซลล์รากผมจะหดตัว ผมจะบางลง (เส้นเล็กลง) และร่วงเร็วขึ้น

แต่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยก็คือ ถ้ามีเป็นลักษณะด้อย แล้ววิวัฒนาการทำไมยังเก็บลักษณะพวกนี้เอาไว้อีก?

ทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ ก็คือ ลักษณะผมน้อยตรงกันข้ามกับลักษณะความก้าวร้าว จึงเป็นไปได้ว่าลักษณะหัวล้านเป็นรูปแบบเด่นของการแสดงลักษณะไม่คุกคามทางสังคม (non-threatening social dominance) แปลเป็นไทยเข้าใจง่ายๆ คือ ดูเป็นผู้ชายใจดีนั่นเอง และอาจเป็นลักษณะที่คัดเลือกมาแล้วตามธรรมชาติ เพราะผู้ชายมีบทบาททางสังคมเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูลูกน้อย

ทีมวิจัยยังมีข้อมูลเบื้องต้นอีกว่า ลักษณะหัวล้านมากหรือน้อย ไม่สัมพันธ์กับจำนวนคู่นอน แปลว่า สาวๆ ไม่ได้ปิ๊งแค่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น (เพราะคนหัวล้านไม่ดึงดูดเท่าคนมีผม) แต่ยังเลือกจากลักษณะนิสัยอีกด้วย พูดง่ายๆ ว่า หัวล้านไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ข้อนี้ขุนช้างน่าจะเห็นด้วยแน่นอน ถ้ามีเงินมากพอ หัวล้านก็เป็นแค่ปัญหาเล็กแบบจิ๊บๆ ได้

แต่ที่ผมว่าน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องหัวล้าน ก็คือ มีงานวิจัยที่พบความเกี่ยวข้องที่เป็นข้อดีของการมีผมน้อยด้วย กล่าวคือ มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่ทำในปี ค.ศ. 2010 (Cancer Epidemiol. 2010 Apr; 34(2):131-5. doi: 10.1016/j.canep.2010.02.003.) โดยศึกษาผู้ชาย 2,000 คนอายุระหว่าง 40–47 ปี แล้วพบด้วยความประหลาดใจว่า ผู้ชายกลุ่มนี้ต่อมาเป็นมะเร็งยอดฮิตของผู้ชายคือ มะเร็งต่อมลูกหมากมากถึงครึ่งหนึ่ง

แต่ผู้ชายในกลุ่มนี้ที่เริ่มหัวล้านตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำกว่าผู้ชายทั่วไปราว 29–45 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าอาจมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่สูงในตอนวัยรุ่น

คนหัวล้านจึงแม้อาจจะดูไม่ดึงดูดเพศตรงข้ามนัก แต่ก็ยังมีภาพลักษณ์ดีหลายๆ อย่างไว้ดึงดูดใจแทน แต่ที่สำคัญคือมีโอกาสรอดจากโรคภัยสำคัญของผู้ชายได้ดีกว่า!

SOURCE : www.bangkokbiznews.com