“ประยุทธ์” ปัดใช้อำนาจ ยันสั่งปิดเพจ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ยึดคำสั่งศาล-ความร่วมมือระหว่างประเทศ “ดอน” โต้เฟซบุ๊ค ยันดำเนินการตามกฎหมายไทย ขณะที่ “ดีอีเอส” ย้ำเดินหน้าฟ้องยึดคำสั่งศาลเป็นหลัก ไม่เฉพาะเฟซบุ๊ค แต่ทุกโซเชียลที่ทำผิดกฎหมายไทย

ขณะที่ “เฟซบุ๊ค” ออกแถลงการณ์ ชี้การแทรกแซงเกินขอบเขตรัฐบาลไทยบั่นทอนความสามารถของเฟซบุ๊คในการลงทุนต่อ 

วานนี้ (25 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยว่า เฟซบุ๊คมีแผนฟ้องร้องรัฐบาลไทยภายหลังจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอให้เฟซบุ๊คบล็อกบัญชีผู้ใช้งานที่มีการโพสต์เนื้อหาพาดพิงสถาบัน อาทิ เพจกลุ่มที่ชื่อ ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ว่า ขอให้มองสองด้าน ถ้ามีการขยายความกันไปอยู่แบบนี้บางครั้งก็มีผลกระทบต่อประเทศกฎหมายประเทศไทยว่าอย่างไรทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศเช่นกัน

“ผมเองไม่เคยไปก้าวล่วงต่างประเทศเพราะเป็นกฎหมายของเขากฎหมายของใครก็คือของใครเพราะฉะนั้นใครจะทำอะไรก็แล้วแต่ก็ขอให้ระมัดระวังด้วยในเรื่องเหล่านี้”

ส่วนกลุ่มดังกล่าวที่ตั้งขึ้นก็รู้ว่าใครเป็นผู้ขับเคลื่อนเพจดังกล่าวก็คือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งคนเหล่านี้ทุกคนก็รู้อยู่ว่าเป็นอย่างไร การที่เรามีการดำเนินการในเรื่องของเพจต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องการดำเนินการตามกฎหมายไทยทั้งสิ้นแล้วก็ไม่เคยไปใช้อำนาจที่เรียกว่าเผด็จการ

“ผมไม่ได้มีอำนาจแล้วไปสั่งปิด เป็นการขอคำสั่งศาลในทุกตัวเพราะฉะนั้นผมคิดว่าในทางกฎหมายเราสามารถที่จะยืนยันได้ตรงนี้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายไทยและการปิดเพจอะไรไปก็แล้วแต่ก็เป็นการขอความร่วมมือและเป็นไปตามคำสั่งศาลทั้งสิ้นหากมีการฟ้องร้องดังกล่าวเราก็ต้องใช้กฎหมายไทยไปสู้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

กต.ยันใช้กฎหมายไทยเข้าควบคุม

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้กำลังพิจารณาในข้อกฎหมาย และกำลังดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้ แต่ถ้าผู้โพสต์ทำผิดกฎหมายของรัฐบาล ก็อยู่ในฐานะที่ใช้กฎหมายของไทยเข้ามาควบคุมให้เกิดความถูกต้อง ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะมาใช้ในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่ ต้องพิจารณาดูว่าเว็บนั้นคุณสมบัติอย่างไร นำเสนอเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือสังคมไทยได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นก็จะนำไปสู่ปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เฟซบุ๊ค อ้างว่าถือกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก นายดอน กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเฟซบุ๊คดำเนินการในประเทศไทย จึงมีวิธีการ สิทธิอำนาจเข้าไปพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย อะไรก็ตามที่ละเมิดกฎหมายไทยถือว่าไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมาไทยได้ขอความร่วมมือทางเฟซบุ๊ค ประจำประเทศไทย และได้รับความร่วมมือมาตลอด เมื่อถามว่า เฟซบุ๊คอาจพิจารณาถอนการลงทุนในไทย นายดอน กล่าวว่า ต้องรอดูรายละเอียดก่อน

“พุทธิพงษ์” ยันเดินหน้าฟ้องต่อ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวยืนยันว่า ประเด็นนี้ ดีอีเอสทำตามกฎหมาย และหลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมายของไทยต่อไป หากมีกรณีเช่นนี้อีกก็จะฟ้องเช่นเดิม แต่ขณะนี้ ยังไม่เห็นว่าเฟซบุ๊คจะฟ้องที่ไหนอย่างไร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลไทย เนื่องจากได้ส่งคำสั่งศาลไปให้ลบเนื้อหาต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องภายใน 15 วัน ซึ่งหากเฟซบุ๊คลบก็จะไม่มีการดำเนินคดี

“ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศ เมื่อมาดำเนินธุรกิจต่างๆ ในไทย ต้องเคารพในกฎหมายไทยด้วย และ เป็นคำสั่งศาลหากต่อไปมีอะไรผมก็จะดำเนินการตามคำสั่งศาลกับทุกแพลตฟอร์ม ไม่ใช่แต่เฉพาะเฟซบุ๊ค ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เขาก็ลบให้”

ทั้งนี้ ของเดิมมีข้อความหมิ่นเหม่ในเฟซบุ๊ค 1,120 ยูอาร์แอล เฟซบุ๊คได้ทยอยลบแล้ว ขณะที่ 10 วันที่ผ่านมาเฟซบุ๊คลบข้อความตามคำสั่งศาลไป 90% รวมทั้งในยูทูบ ติ๊กตอกด้วย

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นายกฯ ย้ำยึดตามหลักกฏหมาย นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะที่ ไม่กังวลว่าจะกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนของต่างชาติ เพราะไม่ได้เกิดกับไทยประเทศเดียว ในสหรัฐ ก็มีการฟ้องกัน มีการบล็อก มีการปิด ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็เป็นกระบวนการเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร 

“เฟซบุ๊ค”แจงสะเทือนการลงทุนในไทย 

ขณะที่ วานนี้ (25 ส.ค.) เฟซบุ๊ค ออกแถลงการณ์  โดยระบุว่า เฟซบุ๊คตัดสินใจจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยที่ระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นเรื่องรุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเฟซบุ๊ค มีจุดมุ่งหมายรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน และเตรียมโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องนี้ ขณะที่ การแทรกแซงเกินขอบเขตของรัฐบาลไทย ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถเฟซบุ๊คในการลงทุนในไทยต่อเนื่อง

เฟซบุ๊ค ระบุว่า ประเด็นด้านเสรีภาพการแสดงออก มีความสำคัญสำหรับเฟซบุ๊คในฐานะที่เป็นองค์กร ต้องอาศัยการหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อน ระหว่างช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดอย่างเสรีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม เมื่อเฟซบุ๊คได้รับคำขอจากรัฐบาล หรือหน่วยงานทางกฎหมายให้จำกัดการเข้าถึงของเนื้อหา หากพบว่าเนื้อหานั้นละเมิดมาตรฐานชุมชนจะลบเนื้อหาทั้งหมดออก

ส่วนกรณีที่เนื้อหานั้นไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชน เฟซบุ๊คจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมาย และหากเนื้อหาละเมิดกฎหมายท้องถิ่นจริง อาจจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ ในประเทศ ซึ่งในไทย คำขอเหล่านั้นถูกดำเนินการในรูปแบบคำสั่งศาลที่ยื่นคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเฟซบุ๊ค ยืนยันว่า ได้ดำเนินการโปร่งใสในการแจ้งถึงจำนวนเนื้อหาที่จำกัดการเข้าถึง โดยอิงจากกฎหมายท้องถิ่นในประเทศ

เฟซบุ๊คโกยรายได้ในไทย3ปี 700ล.

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ค เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ในชื่อ บริษัท เฟซบุ๊ค (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสัญญาติอเมริกัน คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายเดวิด วิลเลี่ยม คลิง นางสาวซูซาน เจนนิเฟอร์ ซิโมน เทย์เลอร์ และ นายไมเคิล ลี จอห์นสันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) เฟซบุ๊ค ประเทศไทย มีรายได้รวมกว่า 715 ล้านบาท กำไรสุทธิ 31ล้านบาท จ่ายภาษีให้รัฐ 22.5 ล้านบาท

โดยปี 2560 มีรายได้รวม 113.75 ล้านบาท รายจ่ายรวม 105.37 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.57 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้ 2.8 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 252.87 ล้านบาท รายจ่ายรวม 233.65 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10.26 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้ 8.96 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 349.13 ล้านบาท รายจ่ายรวม 322.98 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.35 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้ 10.80 ล้านบาท

SOURCE :www.bangkokbiznews.com