คณะผู้บริหารบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA โดยระบุว่า บริษัทฯ ได้ถือโอกาสในการแถลงความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

คณะผู้บริหารบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA โดยระบุว่า บริษัทฯ ได้ถือโอกาสในการแถลงความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 หลังจากเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดส่งแผนแม่บทให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นที่เรียบร้อย

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในฐานะคณะผู้บริหารฯทั้งนี้ ตามแผนได้มีการยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การแสดงแนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่ทางกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ และการแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการในเบื้องต้น โดยหลังจัดส่งแผนแม่บทไปแล้ว ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการลงพื้นที่สำรวจโดยละเอียด และรับมอบพื้นที่จากทางอีอีซี รวมไปถึงเข้าสำรวจพื้นที่ซ่อมบำรุง6อากาศยานของการบินไทย ที่จะถูกสร้างเป็นรันเวย์ 2 หลังจากนั้นคาดว่าจะได้รับหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ในช่วงต้นปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปีแล้วเสร็จ เพื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต้นปี 2568 และครบกำหนดสัญญาร่วมทุนต้นปี 2615

บริษัทฯ ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัท OPi ซึ่งประกอบไป ด้วย Oriental Consultants Global (OCG), Pacific Consultants (PCKK), IBIS Company Limited (IBIS) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยได้ว่าจ้างเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งกลุ่มบริษัท OPi นำโดย OCG และ PCKK เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่ให้การบริการด้านงานวิศวกรรมที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ

โดยกลุ่ม OPi จะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในส่วนของงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ, งานจัดทำแผนแม่บท, งานออกแบบ และงานควบคุมงานก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มงานสนามบิน

อีกทั้งในกลุ่มบริษัท OPi จะมี IBIS Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูงในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน, ทางรถไฟ, ระบบขนส่งสาธารณะ และการบิน ทั้งในและต่างประเทศ และบริษัท To70 (Thailand) Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมการบินและธุรกิจการบินระดับโลก จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้ามาช่วยประเมินความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการวางแผนพัฒนาโครงการ

กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รูปแบบของการร่วมทุนในโครงการฯ เบื้องต้นทาง UTA ได้กำหนดการทำงานร่วมกัน โดยแบ่งงานออกเป็นตามความถนัด อาทิเช่น บีทีเอส มีความถนัดในเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ มีธุรกิจโรงแรม ก็จะดำเนินการศึกษาในส่วนนี้ แต่เรื่องของการลงทุน จะมีการเจรจากันอีกครั้ง ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

“จะต้องกลับมาคุยกันว่าจะมีแนวทางลงทุนยังไง อยากให้โรงแรมอยู่ในระดับกี่ดาว ใครควรจะลงทุน แต่ไม่ว่าทางกลุ่มจะลงทุนเอง หรือเปิดให้เอกชนรายอื่นมาลงทุน โมเดลรายได้ก็จะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับ UTA ทั้งสิ้น”

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ขณะนี้บีทีเอสอยู่ระหว่างศึกษาแผนพัฒนาในส่วนของกิจการที่นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอโร) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่บีทีเอสมีความถนัดอยู่แล้ว ซึ่งเบื้องต้นพบว่าโครงการเมืองการบิน มีพื้นที่ที่เพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจนอนแอร์โรว์ราว 1 พันไร่ มูลค่าหลักแสนล้านบาท ตามแผนก็จะมีการพัฒนาประเภทอสังหาริมทรัพย์ แอร์พอร์ตซิตี้ ฟรีเทรดโซน และคาร์โก้ เป็นต้น โดยขณะนี้มีเอกชนทั้งในและต่างประเทศสนใจร่วมเป็นพันธมิตรจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี การศึกษาธุรกิจนอนแอโร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 เพื่อให้ทันต่อการรับหนังสือ NTP และเริ่มเดินหน้าเข้าพื้นที่ก่อสร้าง โดยแผนดังกล่าว บีทีเอสได้รับมอบหมายจาก UTA ให้ทำการศึกษา แต่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปลงทุน ดังนั้นเมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะต้องนำเสนอ และหารือร่วมกับ UTA เพื่อพิจารณารูปแบบการลงทุน และรายงานแผนดังกล่าวไปยัง สกพอ.เพื่อพิจารณาด้วย

ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากการลงสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่เตรียมงานก่อสร้างไม่มีปัญหาน่ากังวลใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือที่เตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาอยู่แล้ว

SOURCE : www.bangkokbiznews.com