นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -10% ตามปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง และมีโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศทำให้หลายประเทศยังคงต้องดำเนินมาตรการ Lockdown ต่อเนื่อง

อีกทั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศต่างๆทั่วโลก และยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีการประกาศนโยบายตอบโต้ระหว่างกัน, ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2562 จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ถูกกดดันโดยสถานการณ์ของโควิด-19, ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการส่งออกที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องการเงิน  ซึ่งส่งผลการชำระเงินล่าช้าทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อเพื่อดำรงสภาพคล่องในธุรกิจของตน และ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ ที่ยังมีอุปสรรคจากระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีจำกัด ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น           

        ทั้งนี้ การส่งออกเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -23.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ ล้านบาท 520,608 หดตัว -23.06% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 14,833 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -18.05 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 475,986 ล้านบาท หดตัว -17.94% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมิถุนายน 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,610  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 44,621 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมิถุนายนการส่งออกหดตัวร้อยละ -17.20)

 

การส่งออกในเดือนมิถุนายน

กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง

แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ -25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ

 

        ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- มิ.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 114,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -7.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,562,327 ล้านบาท หดตัว -8.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -12.62 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 3,269,175 ล้านบาท หดตัว -13.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- มิ.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 293,152 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – มิ.ย. การส่งออกขยายตัวร้อยละ -8.35)

       อย่างก็ดี สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเยียวยาด้านการเงินสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ต้องเข้ามาเพิ่มการค้ำประกันให้กับการกู้เงินของภาคเอกชนจากธนาคารพาณิชย์ เป็นรายบริษัท พร้อมรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ระดับ 34 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และผ่อนปรนนโยบายการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Soft loan) และขอให้มีการขยายอายุของ พรก.เงินกู้ฯ ให้เป็น 5 ปี