จากกรณีของโฮปเวลล์ ล่าสุดศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ คาดว่าทำให้สององค์กรต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ เป็นวงเงิน 2.49 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นครั้งประวัติศาสตร์ทำสถิติวงเงินสูงสุด

กรณีกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ด้วยเหตุผลมีการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดและมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏว่าเมื่อวานนี้ (22 ก.ค.63) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่เคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่มาขอให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่

ศาลระบุตอนหนึ่งว่า ข้ออ้างเป็นกรณีโต้แย้งการใช้ดุลพินิจพิจารณาคดี ไม่ใช่กรณีที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด ส่วนปมโฮปเวลล์เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนนิติบุคคลไม่ถูกต้อง แม้จะจริง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับปล่อยจนรัฐมนตรีลงนามในสัญญา จึงอ้างไม่รู้ไม่ได้ นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมไม่เคยยกขึ้นสู้ทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในศาลปกครองจึงไม่ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่

การตัดสินดังกล่าวคาดว่าจะมีผลทำให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันเป็นวงเงิน 2.49 หมื่นล้านบาท เป็นการจ่ายค่าโง่อีกครั้ง แถมเป็นครั้งประวัติศาสตร์ทำสถิติวงเงินสูงสุด ผลพวงจากการหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจจากการไปบอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร

 

หลังคำสั่งศาลนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อ้างว่าขอรออ่านคำสั่งศาลอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไร ส่วนนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีคณะทำงานทางด้านกฎหมายที่วางยุทธศาสตร์การดำเนินคดีนี้ไว้แล้ว ดังนั้นเวลานี้ขอเวลาให้คณะทำงานดังกล่าวพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาเนื้อหาในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดด้วย

คดีนี้ถูกจับตามองถึงความผิดปกติมาแทบจะทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความหละหลวมไม่ค่อยจริงจังในการต่อสู้คดี ทั้งหมดนี้อยู่ในความเห็นของศาล ยกตัวอย่างเรื่องศาลชี้ว่า กรณีร่างสัญญาจะต้องผ่านการตรวจจากกรมอัยการขณะนั้นก่อนลงนาม แต่กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ไม่ตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และไม่เคยยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้มาก่อนทั้งในชั้นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครองเลย จึงเป็นความบกพร่องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.เอง

เราเห็นว่าค่าโง่มโหฬารครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความหละหลวมหรือโง่เขลาเบาปัญญา แต่จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังเป็นหน้าที่หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันและคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นผู้รับภาระค่าโง่ในฐานะพลเมือง นอกจากร่วมกันต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมโกง ช่วยสอดส่องความไม่ชอบมาพากลแล้ววันเลือกตั้ง ยิ่งต้องคิดให้รอบคอบก่อนหย่อนบัตร

www.bangkokbiznews.com/news/detail/890593