อีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตาคือ โควิด-19 ทำให้หนี้ของบรรดาบริษัทชั้นน้ำทั่วโลก จากที่มีการศึกษากว่า 900 แห่ง พบว่าทั้งปี 2563 จะมีหนี้เพิ่มถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ และจะส่งผลให้ยอดหนี้รวมทั่วโลกสูงถึง 9.3 ล้านล้านดอลลาร์

ผลการศึกษาล่าสุดจาก 900 บริษัทชั้นนำทั่วโลก เพื่อจัดทำดัชนีหนี้บริษัทฉบับใหม่ พบว่าปีนี้บริษัททั้งหลายจะมีหนี้ก้อนใหม่มากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ผลพวงจากความพยายามเพิ่มสภาพคล่องสู้ไวรัสโคโรนา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปี 2563 นี้ หนี้บริษัทชั้นนำทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลยอดรวมหนี้บริษัททั่วโลกเพิ่มขึ้น 12% มาอยู่ที่ราว 9.3 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อรวมกับหนี้ที่สั่งสมมาหลายปีทำให้บริษัทที่มีหนี้มากที่สุดในโลกมีขนาดหนี้เท่ากับประเทศขนาดกลางเลยทีเดียว

ปีที่แล้วหนี้บริษัทก็เพิ่มขึ้น 8% ด้วย เป็นผลจากการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) และการที่บริษัทกู้ยืมเงินมาเป็นทุนซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผล แต่ปีนี้หนี้พุ่งด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการกู้เงินเก็บสำรองไว้รับมือไวรัสได้ทำลายผลกำไรให้หดหายไป

 

“โควิดเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ตอนนี้บริษัทต้องเก็บเงินทุนไว้และสร้างงบดุลอันแข็งแกร่ง” เซธ เมเยอร์ ผู้จัดการฝ่ายการลงทุน บริษัทเจนัส เฮนเดอร์สัน ผู้รวบรวมบทวิเคราะห์ทำดัชนีหนี้บริษัทฉบับใหม่ให้ความเห็น

ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. บริษัทขายหุ้นกู้มูลค่า 3.84 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเมเยอร์ประเมินว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทที่มีความเสี่ยงให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความน่าเชื่อถือต่ำออกหุ้นกู้มามากเป็นประวัติการณ์

กระนั้นนักลงทุนยังไม่ค่อยตอบรับ ยกเว้นบริษัทที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่านั้นในเดือน มี.ค. แต่ตลาดเปิดกว้างตอบรับหุ้นกู้อีกครั้งหลังจากธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำโครงการเร่งด่วนซื้อหุ้นกู้บริษัท

บริษัทที่มีรายชื่อในดัชนีหนี้ใหม่มีหนี้อยู่แล้วมากกว่า 40% ที่เคยมีในปี 2557 และหนี้ก็เพิ่มขึ้นเกินกว่าผลกำไรอย่างรวดเร็ว

กำไรก่อนหักภาษีของกลุ่ม 900 บริษัทที่ศึกษาเพิ่มขึ้นรวมกัน 9.1% มาอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ สัดส่วนหนี้ต่อทุน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 59% ในปี 2562 ขณะที่สัดส่วนกำไร สำหรับจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงสุดทำสถิติใหม่เช่นกัน

บริษัทสหรัฐเป็นหนี้เกือบครึ่งของหนี้บริษัททั่วโลกที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเร็วสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เหนือเขตเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ ยกเว้นสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการทำข้อตกลงเอ็มแอนด์เอสำคัญหลายรายการ

เยอรมนีตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 7.62 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งยังมีบริษัทหนี้ท่วมสุดของโลก 3 แห่ง รวมทั้งโฟล์คสวาเกน ที่มีหนี้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก 1.92 แสนล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าประเทศอย่างแอฟริกาใต้และฮังการีไม่มากนัก หนี้โฟล์คสวาเกนเพิ่มมากจากบริษัทสินเชื่อรถยนต์ในเครือ

ในทางตรงข้ามบริษัทในดัชนี 1 ใน 4 ไม่มีหนี้เลย บางแห่งมีเงินสดสำรองมหาศาล มากที่สุดคือบริษัทอัลฟาเบตเจ้าของกูเกิล 1.04 แสนล้านดอลลาร์

เมเยอร์กล่าวด้วยว่า ตลาดสินเชื่อยังพอมีหนทางกลับไปสู่สภาพก่อนเกิดโควิดได้บ้าง และภัยคุกคามจากไวรัสที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะในสหรัฐที่จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมาก ยังเป็นความกังวลใหญ่ของนักลงทุน เป็นแนวโน้มที่ท้าทายมากกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อ 2 เดือนก่อน

SOURCE : www.bangkokbiznews.com