ธุรกิจ Healthcare เป็นภาคธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตและการลงทุนอย่างมีนัยยะสำคัญ จากแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วิถีชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงโรคระบาดรุนแรงอย่างไวรัสโควิด-19 คุณธณาพล อิทธินิธิภัค Vice President – Head of Thailand Business, BlackRock Inc. มาให้ความรู้ในรายละเอียดของธุรกิจ Health Care ในประเทศไทยและระดับโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญการลงทุน คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) และ คุณศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ร่วมเสวนาถึงโอกาสการลงทุนธุรกิจ Healthcare

ภาพรวมธุรกิจ Heathcare ในไทยและต่างประเทศ

เมื่อกล่าวถึงการลงทุนในธุรกิจ Healthcare ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจ Healthcare อย่างเดียวในไทยที่ลงทุนได้ แต่เมื่อมองไปถึงภาพธุรกิจ Healthcare ทั่วโลก จะพบว่ามีธุรกิจมากมายหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโยงใยกันในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งคุณธณาพล ได้กล่าวถึงภาคธุรกิจ Healthcare ระดับโลก แบ่งเป็นธุรกิจย่อย 4 กลุ่มหลัก 1 ภาคบริการ ดังนี้
 

1.กลุ่มธุรกิจ Pharmaceutical  ได้แก่บริษัทยา ซึ่งผลิตและจำหน่ายยา แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ยา Original และยา Generic   

  • ยา Original คือ ยาที่จดสิทธิบัตร โดยทั่วไปการคิดค้นยาแต่ละชนิดตั้งแต่ทำการวิจัย ทดลองในสัตว์จนสามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้จะใช้เวลาประมาณ 20 ปี  เมื่อคิดค้นสำเร็จบริษัทยาจะจดสิทธิบัตรให้ได้สิทธิผลิตและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนใหญ่จะจดสิทธิบัตรเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งในช่วง 20 ปีจะเป็นช่วงเวลาที่ยา Original สามารถทำรายได้และมี Profit Margin สูง
  • ยา Generic คือ ยาสามัญ หรือยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว จึงสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม การผลิตยา Generic มีการแข่งขันสูง เพราะต้องแข่งขันการจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ Profit Margin ต่ำไปด้วย

ทั้งนี้ การลงทุนในกลุ่ม Pharmaceutical จะเน้นไปที่กลุ่มบริษัทยาระดับโลกที่ผลิตค้นคว้ายา Original ซึ่งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น Johnson & Johnson (สหรัฐ) Roche (สวิส) Takeda (ญี่ปุ่น) และ Sanofi (ฝรั่งเศส)  เป็นต้น  ในประเทศไทยเป็นการผลิตยา Generic โดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาเอกชนต่างๆ

 

2.กลุ่มธุรกิจ Biotechnology คือการศึกษาค้นคว้าสิ่งมีชีวิตเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เช่น พืช GMO การปรับเปลี่ยนโครโมโซม และที่สำคัญคือการผลิตคิดค้นวัคซีนต่างๆ โดยเฉพาะขณะนี้ที่ผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 4 ล้านคนและประชากรโลกต่างเฝ้ารอวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 คุณธณาพลมองว่าในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รอบนี้ น่าจะคาดหวังไปที่วัคซีนมากกว่า โดยนายแพทย์ Anthony Fauci หัวหน้าศูนย์โรคระบาดสหรัฐ คาดว่าจะมีการผลิตวัคซีนออกมาได้ปลายปี 2020 นี้ ในส่วนการผลิตในเชิงพาณิชย์น่าจะทำได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 จากสถานการณ์ขณะนี้ ทำให้หุ้นบริษัทกลุ่ม Biotechnology มาแรงน่าลงทุนอย่างมาก บริษัทในกลุ่มธุรกิจนี้ ได้แก่ AmGen, Biogen, Gilead ของสหรัฐ และ Bayer ของเยอรมนี เป็นต้น 

3.กลุ่มธุรกิจ Healthcare Equipment & Supplies ที่ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง (Single-Use Devices) เช่นเข็มฉีดยา หลอดฉีดยา ถุงมือยาง ฯลฯ คิดเป็น 20% ของการผลิต อุปกรณ์ใช้คงทน (Durable Medical Devices) เช่นเตียงคนไข้ รถเข็น เครื่องมือแพทย์ใช้เทคโนโลยีสูง เครื่องมือวินิจฉัยโรคต่างๆ คิดเป็น 75% และน้ำยาวินิจฉัยโรค (Reagents and test Kits) สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ มีสัดส่วน 5% ซึ่งสิ่งที่ทำกำไรมากที่สุดคือ อุปกรณ์ที่ใช้คงทน ตามด้วยแบบใช้แล้วทิ้ง และน้ำยาวินิจฉัยโรค 


บริษัทในกลุ่มธุรกิจเครื่องมือการแพทย์ เช่น Abbott, Medtronic, DePuy Synthes ของสหรัฐ Siemens ของเยอรมนี เป็นต้น ส่วนประเทศที่ส่งออกเครื่องมือแพทย์มากที่สุดในโลก คือ เยอรมนี รองมาคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีนอยู่ในอันดับที่ 4 อย่างไรก็ดีเครื่องมือการแพทย์ที่ผลิตโดยจีน จะเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีปานกลาง ต่างจากประเทศ 3 อันดับแรกที่ผลิตส่งออกเครื่องมือทันสมัยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในส่วนประเทศไทย ส่งออกเครื่องมือแพทย์มากที่สุดในอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง เช่นถุงมือยาง ที่ส่งออกมากที่สุดอันดับสองของโลก เนื่องจากเรามีวัตถุดิบยางพาราจำนวนมาก แต่แม้ไทยจะส่งออกเครื่องมือแพทย์มากที่สุดในอาเซียน แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว บริษัทผู้ผลิตเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาใช้วัตถุดิบในไทยเพื่อผลิตส่งออก อีกอย่างคือธุรกิจอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง เป็นตลาดที่แข่งขันลำบาก เนื่องจากไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใครๆ ก็เข้ามาทำได้ ตัวแบรนด์ไม่มีมูลค่า แข่งกันที่ราคา ลูกค้าเปลี่ยนแบรนด์ได้ตลอดเวลา
 

4.กลุ่มธุรกิจ Healthcare Provider คือโรงพยาบาลเอกชน มีรายได้จากค่ายา บริการของบุคลากรการแพทย์ การตรวจแล็บ/เอ็กซ์เรย์ และห้องพักผู้ป่วย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการแข่งขันธุรกิจโรงพยาบาล คือการที่มีเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะจะได้เปรียบเรื่อง Economy of Scale ในการจัดซื้อเครื่องมือเวชภัณฑ์จำนวนมากมาใช้ในเครือทั้งหมด รวมถึงศักยภาพในการจับฐานลูกค้าระดับสูง-กลาง ทั้งในและต่างประเทศ การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) จึงเป็นเป็นกลยุทธ์หลักในธุรกิจโรงพยาบาล ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไปเลย เช่น โรงพยาบาลตา เป็นต้น  กลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำเช่น Unitedhealth Group, Teladoc Health ของสหรัฐ เครือ BDMS และ Bumrungrad International ของไทย

 

5.บริการ Healthcare Insurance เป็นบริการที่อยู่ในอุตสาหกรรม Healthcare และสำคัญมากในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ค่ารักษาพยาบาลสูง แต่สวัสดิการรัฐน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของรัฐมีเพียงเมดิแคร์ (Medicare) ที่ดูแลผู้สูงอายุ และเมดิเคท (Medicaid) ดูแลผู้มีรายได้น้อย ประชากรส่วนใหญ่ที่เหลือต้องทำประกันสุขภาพเอง  

 

ทำไมควรลงทุนในธุรกิจ Healthcare

แนวโน้มธุรกิจ Healthcare จะเติบโตในระยะยาวจากโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศส่วนใหญ่ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าในปี 2020 จะมีคนมีอายุมากกว่า 60 ปี 1 พันล้านคน คิดเป็น 14% ของประชากรโลก 7,300 ล้านคน ส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเจ็บป่วยในผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่นโรคความดัน เบาหวาน หลอดเลือด ฯลฯ นอกจากนั้น ไลฟ์สไตล์ชีวิตในเมืองใหญ่ก็เป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ อีกเหตุผลคือในหลายๆ ประเทศ รัฐมีการจัดการระบบประกันสุขภาพดีขึ้น เมื่อระบบดี เมื่อคนเจ็บป่วยก็ไปพบแพทย์มากขึ้น การใช้ยาก็มากขึ้นตาม ส่งผลให้ธุรกิจ Healthcare เติบโตมากขึ้น


สำหรับระยะสั้น การแพร่ระบาดของไวรัส-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แม้ธุรกิจกลุ่ม Healthcare Provider อาจจะซบเซา เพราะคนกังวลไม่อยากไปโรงพยาบาล ประกอบกับบังคับใช้ Physical Distancing แต่ในกลุ่ม Medical Equipment and Suppliers ได้รับผลด้านบวก จากความต้องการอุปกรณ์การแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้ง ในธุรกิจ Biotechnology ราคาหุ้นของบริษัท Modena ที่คิดค้นวัคซีนป้องกันปรับตัวสูงขึ้นจากเมื่อต้นปี 250-300% 

 

จะลงทุนธุรกิจ Healthcare ได้อย่างไร

คุณธณาพลแนะนำการลงทุนธุรกิจ Healthcare 3 วิธีได้แก่ 1) การลงทุนในหุ้นรายตัว ทั้งในไทยและต่างประเทศ 2) ซื้อกองทุนรวมลงทุนในอุตสาหกรรม Healthcare บริหารจัดการโดยมืออาชีพ 3) ลงทุนในกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์


ในส่วนการลงทุนหุ้น Heathcare ในไทย คุณสุกิจวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าแม้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลน้อยลง และกลุ่มลูกค้าผู้ป่วยต่างชาติหายไป อย่างไรก็ดี ได้มีการใช้เทคโนโลยี Telemedicine มาทดแทน และสถานการณ์นี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ในส่วนผู้ป่วยต่างชาติก็ต้องรอให้การเดินทางกลับมา ซึ่ง BDMS เป็นหุ้นกลุ่ม Healthcare ใหญ่อันดับ 4 ของโลก สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติ 30% น้อยกว่า BH ที่มีผู้ป่วยต่างชาติ 66%  จากการวิเคราะห์ของ SCBS คาดว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 จากโควิด-19 จะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลังปี 2020 และผลการดำเนินงานมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งเรื่องสังคมสูงวัย ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง และ การเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติ

SOURCE : www.scb.co.th