ธุรกิจค้าปลีกเริ่มกลับมาอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกเฟส 3 ซึ่งโจทย์ใหญ่ของธุรกิจค้าปลีก คือการดึงกำลังซื้อจากลูกค้ากลับมาให้ได้เร็วที่สุด จึงทำให้ช่วงนี้ห้างสรรสินค้า ธุรกิจค้าปลีกต่างงัดกลยุทธ์ จัดโปรโมชั่นที่หลากหลายเพื่อดึงความสนใจของลูกค้า ท่ามกลางมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ต้องจำกัดจำนวนลูกค้าภายในร้าน

สมาคมค้าปลีก เผย ไตรมาส 2/63 ธุรกิจติดลบ 20-50%

        ข้อมูลจาก สมาคมค้าปลีกไทย ระบุว่า จากวิกฤติโควิด 19 ธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการล็อกดาวน์ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง โดยดัชนีค้าปลีกไตรมาสแรกที่ผ่านมาลดลง 3-7% และในไตรมาส 2 ประมาณการดัชนี ติดลบ 20-50% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด 

แม้ว่ามาตรการผ่อนคลายความเข้มข้น ธุรกิจค้าปลีกคาดว่าจะเริ่มทรงตัว แต่การเติบโตก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม คาดยังคงติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ซึ่งธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า จะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมคงต้องใช้เวลา 8-24 เดือน หลังจากโควิด-19 ดีขึ้น

 

MR.D.I.Y. เดินหน้าขยาย 70 สาขา ชิงดีมานด์หลังปลดล็อก

         แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เชนร้านค้าปลีก มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย. (MR.D.I.Y.) ยังมั่นใจว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้าอยู่ เห็นจากสาขาที่มีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากในช่วงล็อกดาวน์ โดยสินค้าของใช้ในบ้าน และเครื่องเขียนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับของตกแต่งบ้าน ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการเวิร์กฟรอมโฮมทำให้ผู้บริโภคต้องทำงาน และใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น จึงมีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำอาหาร ตกแต่งบ้าน

        ดังนั้นจึงต้องดูพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดเพื่อเพื่อให้สามารถปรับไลน์อัพสินค้ามาตอบโจทย์ได้ทันเพื่อรับดีมานด์ และขยายการเข้าถึงผู้บริโภค และเตรียมเปิดเพิ่มอีก 70 สาขาในปีนี้ พร้อมขยายช่องทางการขายสู่อีคอมเมิร์ซ เปิดขายสินค้าผ่านทางออฟฟิเชียลเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ๆ เช่น ลาซาด้า และช้อปปี้ จัดแคมเปญชิงรางวัล เพื่อสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” จัดโปรหนักลด 70% ดึงดูดใจนักช้อป

            “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต แบงค์คอก” การร่วมทุนระหว่างบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และไซม่อน พรอพเพอร์ตี้ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างเอาท์เล็ตระดับโลก ที่รวมแบรนด์ดังระดับลักชัวรี่เข้ามามากมาย บนทำเลที่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิเพียง 15 นาที พร้อมเปิดบริการ 19 มิ.ย.63 นี้ ก็ได้จัดแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อ ด้วยส่วนลดสูงสุดกว่า 70% รวมถึงส่วนลดพิเศษเพิ่มอีก 10 –15% เพื่อจูงใจเหล่านักช้อปสินค้าแบรนด์เนมให้เข้าไปจับจ่ายกันอย่างเต็มที่

แม็คโคร ปั้นโมเดลใหม่ “Fresh@makro”

         บรรยากาศการใช้จ่ายซบเซา ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนา “แพลตฟอร์ม-รีเทลโมเดลใหม่” เป็นเครื่องมือเจาะตลาด เช่นเดียวกับ“แม็คโคร” ศูนย์ค้าส่งธุรกิจภายใต้เครือซีพี ที่ล่าสุดได้เปิดตัวร้านโมเดลใหม่ “Fresh@makro” เน้นสินค้าอาหารสด เกรดพรีเมียม ในโครงการ อีส พาร์ค (Ease Park) คอมมูนิตี้มอลล์บนถนนรามอินทรา กม.4.5

        นับเป็นการแตกไลน์สร้างโอกาสใหม่ต่อยอดสินค้ากลุ่มอาหารออกไปหลากหลายเซ็กเมนต์สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขยายฐานลูกค้าเจาะกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น จากที่ผ่านมาพัฒนาโมเดล “แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส”  เน้นให้บริการผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจจัดเลี้ยง (โฮเรก้า)  นอกจากนี้ยังมี “สยามโฟรเซ่น” ศูนย์รวมอาหารแช่แข็ง "สยามฟูด เซอร์วิส" นำเข้าและจำหน่ายอาหารระดับพรีเมี่ยมสำหรับผู้ประกอบการ 

“จองคิว” ลดแออัด-ปลุกจับจ่าย กลยุทธ์ในต่างประเทศ

         วงการค้าปลีกของสหรัฐฯ ปรับตัวด้วยการให้ลูกค้านัดเวลาเข้าใช้บริการล่วงหน้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความสนใจ หลังจากผู้บริการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ อย่าง “ยูนิไบล์-โรดัมโค-เวสต์ฟีลด์” (Unibail-Rodamco-Westfield) หรือ URW ซึ่งบริหารห้างกว่า 91 สาขาใน 12 ประเทศ ทั้งฝั่งอเมริกาเหนือและยุโรป เช่นเดียวกับเชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง “เบสต์ บาย” (Best Buy) ที่มีสาขากว่า 1,000 สาขาในสหรัฐ ต่างเลือกใช้วิธีการนี้

        โดย URW ได้เพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในแอปและเว็บไซต์ของบริษัททั้งระบบนัดเวลาเข้าใช้บริการล่วงหน้า, การเช็กจำนวนลูกค้าในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถวางแผนมาเดินช็อปในห้างในช่วงเวลาที่มีคนน้อยที่สุดได้ ขณะเดียวกัน ยังเปิดบริการไดรฟ์ทรูสำหรับรับสินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ หรือซื้ออาหารจากฟู้ดคอร์ตผ่านแอปสั่งอาหารอย่างดอร์แดช และอูเบอร์อีตส์ อีกด้วย

         เช่นเดียวกับ “เบสต์ บาย” ที่ในช่วงคลายล็อกดาวน์นี้ นำนโยบายรับเฉพาะลูกค้าที่นัดล่วงหน้าไว้เท่านั้นมาใช้ใน 700 สาขา พร้อมหันเสริมจุดขายด้านบริการ โดยจะมีการโทรศัพท์ถามลูกค้าถึงสินค้าที่สนใจก่อน และเมื่อลูกค้ามาถึงจะได้รับการบริการจากพนักงานที่เชี่ยวชาญในสินค้ากลุ่มนั้น ๆ แบบตัวต่อตัว เป็นเวลา 30 นาทีต่อรอบ ซึ่งระหว่างให้บริการพนักงานจะคอยทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆ ไปด้วย เพื่อความปลอดภัย

        สำหรับค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า ลูกค้าเกือบทั้งหมดจะวางแผนการซื้อมาก่อนแล้ว ต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่การตัดสินใจแบบเฉพาะหน้า เป็นส่วนสำคัญในการสร้างยอดขาย ทำให้จำนวนลูกค้าในร้านไม่สร้างความแตกต่างมากนัก นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง โดยเฉพาะระดับไฮเอนด์ยังมีความซับซ้อนและต้องการการติดตั้ง จึงต้องอาศัยการอธิบายของพนักงาน

   ความน่าสนใจของการงัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดใจ และเงินในกระเป๋าของลูกค้า เป็นทางออกให้ธุรกิจค้าปลีก สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และที่สำคัญนอกจากเทคนิคการบริการแล้ว พนักงานยังจำเป็นต้องฝึกให้รับมือกับความไม่พอใจของลูกค้าด้วย