หนึ่งในความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นเรื่อง“เวลา” บ้างก็ว่าไม่มีเวลาทำงานมากพอ บ้างไม่มีเวลาให้ครอบครัว บ้างไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ทั้งๆที่เวลาคือ“ความเสมอภาค”เพียงอย่างเดียวที่ทุกคนในโลกมีเท่าๆกัน และหากตอนนี้คุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นทุกข์ในเรื่องเวลา Secret มีเคล็ดลับดีๆเรื่องการ บริหารเวลา มาฝากค่ะ

เพื่อที่จะช่วยคุณจัดการกับเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ คุณจะต้องทำตัวเป็น…

1. นักสำรวจ

ลองจดบันทึกกิจวัตรประจำวันที่คุณทำในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอนว่าแต่ละกิจกรรมคุณใช้เวลาไปเท่าไร ติดต่อกันประมาณ7วัน(ในสัปดาห์ที่ทำงานเป็นปกติไม่มีวาระการทำงานพิเศษ)เพื่อให้เห็นตารางเวลาชีวิตของคุณว่ามีเรื่องใดบ้างที่ทำให้คุณเสียเวลามากที่สุด และเพราะอะไร จากนั้นสังเกตตัวเองว่า ช่วงเวลาใดที่สมองรู้สึกปลอดโปร่ง  ความคิดโลดแล่นที่สุด และช่วงเวลาใดที่ร่างกายอ่อนล้า สมองตีบตัน เพื่อจัดสรรช่วงเวลาทำงานให้เหมาะสมกับงานประเภทต่างๆ

2. นักวิเคราะห์นโยบายและวางแผน

ตั้งเป้าหมายชีวิตในระยะสั้นและระยะยาวอย่างชัดเจน เช่นเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน เพื่อให้รู้ว่าคุณต้องทำอะไรบ้างและแต่ละอย่างควรใช้เวลาเท่าไร พร้อมทั้งมีเส้นตายให้กับทุกกิจกรรม เพื่อเป็นการกระตุ้นตัวเองให้เดินทางไปถึงเป้าหมายให้ทันเวลา ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของเป้าหมายรายวันควรมี“To-Do List”(สิ่งที่ต้องทำ) เพื่อให้รู้ลำดับก่อนหลังของงานที่จะทำ เรียงลำดับความสำคัญและความเร่งด่วน เพื่อพร้อมที่จะทำงานในแต่ละวันให้เสร็จอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที

3. นักเศรษฐศาสตร์ เมื่อความต้องการซื้อ(ทำงาน)มีมาก ความต้องการขาย(เวลา) ก็ต้องแปรผันตามไปด้วย ด้วยหลักการนี้ทำให้คุณต้อง“เพิ่มเวลา”ง่ายๆด้วยตนเอง เช่น ตื่นนอนให้เช้าขึ้น เปลี่ยนเส้นทางมาทำงาน หรือย้ายที่พักมาอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงานเพื่อให้ประหยัดเวลามากขึ้น หรือหัดทำงานเบาๆหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ในการทำงานต้องเข้าใจว่าคุณไม่สามารถทำทุกสิ่งอย่างด้วยตนเองได้ทุกเรื่อง จงให้เวลากับงานชิ้นสำคัญที่ต้องลงรายละเอียด
และเรียนรู้ที่จะมอบหมายงานที่สำคัญน้อยกว่าให้คนอื่นทำแทนโดยไตร่ตรองอย่างสุขุมรอบคอบเสียก่อน อย่าหวงงาน อย่าคิดว่าคนอื่นทำงานได้ไม่ดีเท่าคุณ

4. นักกำจัดขยะมูลฝอย

ทุกที่ทำงานย่อมมีสิ่งรบกวนสมาธิเสมอๆ เช่น การตั้งวงเมาท์สนุกปากกับเพื่อนตัวแสบ คุยโทรศัพท์เรื่อยเปื่อย เช็กอีเมลไม่เป็นเวลา เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คเกินความจำเป็น ดังนั้นคุณจึงต้องจำกัดเวลาในการทำกิจกรรมแต่ละอย่างให้เหมาะสมและลงตัว ตัดสิ่งรบกวนต่างๆ ออกไปให้หมด ไม่เอามาปะปนกับการทำงาน เก็บความเกรงใจไว้บ้าง และหัดรู้จักปฏิเสธ พูดคำว่า“ไม่”อย่างสุภาพและมีศิลปะ หากว่างานตรงหน้าของคุณยังไปไม่ถึงไหน

5. นักเดินทางและนักเอนเตอร์เทน

ระหว่างทำงานทุก1-2ชั่วโมง ควรมีการผ่อนคลายอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายบ้างเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ควรมีการพักสายตาทุกๆ20–30นาที เมื่อถึงเวลาพักกลางวัน ขอให้เป็นเวลาพักจริงๆ เช่นเดียวกับเวลาหลังเลิกงานที่ควรเก็บงานไว้ที่ทำงาน ไม่ปะปนกับเวลาส่วนตัว อย่าลืมให้รางวัลตัวเอง ด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่คนที่คุณรักอย่างเต็มที่

6. นักวิจัยและนักวิชาการ

นอกจากการผ่อนคลายหลังทำงานแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพใดก็ตาม คุณต้องรู้จักเติมอาหารสมอง เพิ่มความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ หรือกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งจากการอ่านหนังสือ นิตยสาร ดูโทรทัศน์ หรือไปชมนิทรรศการ และร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

7. ผู้รักษากฎหมาย

ทุกข้อที่กล่าวมาคงไม่มีประโยชน์ถ้าคุณไม่สามารถทำอย่างที่วางแผนได้ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อเกิด“ผิดแผน”ขึ้นมา คุณควรมีบทลงโทษตัวเองบ้างเพื่อเป็นการสร้างวินัยให้ตนเอง เช่น ลดเวลาส่วนที่เกินมาในวันต่อไปเพื่อเพิ่มเวลาชดเชยให้กับส่วนที่ขาดหายไป จะได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ยังค้างคาอยู่ให้ลุล่วง ลองปรับลองทำดูวันละเล็กละน้อย แล้วคุณจะรู้ว่า“การเป็นนายของเวลา”ไม่ใช่เรื่องยาก และเวลาก็จะไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่เหนี่ยวนำให้คุณเกิดความทุกข์ได้อีกต่อไป

ส่วนหนึ่งจากบทความ “บริหารทุกนาทีให้มีค่าดั่งทองคำ” โดย Horizon

SOURCE : www.goodlifeupdate.com