ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

โรคระบาดเกิดขึ้นบนโลกมานานมากแล้ว ในช่วงแรกๆโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียโดยมีอหิวาตกโรคเป็นรุ่นสุดท้าย หลังจากนั้นโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาจากเชื้อไวรัส เนื่องจากเรามีวิทยาการที่ทันสมัยและรู้จักแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแทบจะทุกชนิด ทำให้สามารถติดตามและควบคุมวงจรของแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในปัจจุบันว่าเรายังไม่สามารถเข้าใจกลไกการปรับตัวของไวรัส โดยเฉพาะไวรัสที่ทำให้เกิด โควิด 19 ในปัจจุบัน

 

โลกแห่งวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตมากว่าพันปีเป็นต้นมา ทำให้มนุษย์เชื่อในสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้ว่าเป็นจริงและละเลยต่อสิ่งที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างในปัจจุบัน มนุษย์ก็จะใช้ความฉลาดในวิเคราะห์สาเหตุตามสิ่งที่ได้เรียนรู้และสั่งสอนกันมาเหมือนกับงูที่ไล่กัดหางตัวเองเพราะปัจจัยที่นำมาซึ่งปัญหาเรายังไม่รู้จักและไม่เข้าใจมันอย่างแท้จริง

เรายังไม่รู้จักตัวเราเองได้ดีพอ

ในปี ค.ศ. 2003 วงการเทคโนโลยี่ชีวภาพ (National human genome research institute) ได้ประกาศความสำเร็จในการทำแผนที่รหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งยังผลให้เราแยกรหัสพันธุกรรมของมนุษย์กับสิ่งต่างรอบข้างได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้งานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยีนส์หรือรหัสพันธุกรรมต่างๆ ทั้งคนสัตว์พืชจุลินทรีย์ มีการตีพิมพ์ออกมามากมาย โดยมีสิ่งที่ทำให้พวกเราแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของจำนวนเซลล์ของมนุษย์ โดยที่มากกว่า 90 % ของจำนวนเซลล์ของมนุษย์ทั้งหมดเป็นเซลของจุลินทรีย์ (Microbiome) ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ส่งผลต่อวงการแพทย์และโภชนาการเป็นอย่างยิ่งเพราะเมื่อศึกษาลึกลงไปกว่านั้นทำให้เราพบว่าสารเคมีที่เป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในมนุษย์เรานั้น ส่วนใหญ่ก็ถูกผลิตขึ้นโดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของเรา จึงทำให้เกิดการพัฒนาอีกมากมายตามมาในการรักษาโรค ซึ่งน่าจะทำให้พอสรุปได้ในระดับหนึ่งว่าเราน่าจะยังไม่รู้จักตัวเราเองมากพอเพราะกลุ่มจุลินทรีย์ที่เราแยกนับออกมาได้นั้น เราสามารถแยกได้ก็จริงแต่ยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อศึกษาวงจรชีวิตของมันได้ดีพอเลย ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป

มนุษย์เราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ฉลาดที่สุดในโลกจริงหรือเปล่า

นับตั้งแต่โลกกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 4600 ล้านปีที่ผ่านมาแล้ว เราเชื่อกันอย่างสนิทใจว่าสปีชีส์ของเราเป็นเผ่าพันธ์ที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุด มีความฉลาดมากที่สุด สามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆมากมาย สามารถสรรค์สร้างเทคโนโลยี่เพื่อให้เกิดการผลิตและอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในทางตรงกันข้ามกันก็มีผู้ย้อนแย้งว่า ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมามนุษย์เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปเทียบเท่ากับช่วงเวลา 200,000 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้กล่าวเทียบไว้ว่าเราได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกหมดไปแล้วกว่าหนึ่งใบครึ่ง

Source : https://www.greenprophet.com/2012/02/ecological-footprint-measure/

ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ทำให้มี ทฤษฏีกายา (Gaia theory) โดย James Lovelock ซึ่งมีแนวคิดว่าโลกเป็นสิ่งมีชีวิตและมีระบบกลไกในการควบคุมตัวเอง เมื่อเกิดการเสียสมดุลในระบบของโลกเกิดขึ้น โลกจะมีกลไกในการปรับตัวโดยอัตโนมัติ การเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ การเกิดโรคระบาดดังเช่นทุกวันนี้จะเกี่ยวข้องกับทฤษฏีนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้ อย่างไรก็แล้วแต่คำว่า เมื่อโลกเอาคืน (The revenge of Gaia) จะถูกฝั่งไว้ในความทรงจำของพวกเราไปอีกนาน เนื่องจากพวกเราเริ่มไม่เชื่อมั่นตัวเองเหมือนกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบฟีโนไทด์ยีนส์(ยีนที่แสดงออกลักษณะพันธุกรรม)ของมนุษย์กับต้นข้าวแล้ว พบว่าจำนวนยีนส์ของข้าวมีมากกว่ามนุษย์ถึงเกือบสองเท่า ซึ่งยืนยันถึงความสลับซับซ้อนของการเป็นสิ่งมีชีวิตว่าในต้นข้าวมีมากกว่าพวกเรา

สำหรับในเรื่องความสามารถของพืชนั้นได้มีความพยายามที่จะศึกษากันมานานแล้วพอสมควร โดยบุคคลแรกที่ทำการศึกษาคือ Charles Darwin โดยเขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า Power of movement in plant และในปัจจุบันก็ยังมีความพยายามในการศึกษาที่จะทำความเข้าใจพืชให้มากขึ้น โดยมีหนังสือเรื่อง What a plant knows  โดย Daniel Chamovitz ที่ได้อธิบายกลไกการตอบสนองของพืชทั้งในเรื่องการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การรับรู้ถึงกลิ่น ซึ่งทำให้เราได้เห็นและเข้าใจพืชในมุมมองใหม่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็แล้วแต่การทดลองต่างๆที่เกี่ยวกับพืชทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่ยืนยันความสามารถของพืชในด้านที่จะทำให้ประสาทสัมผัสของมนุษย์รับรู้ได้เท่านั้น เพราะความเป็นจริงในโลกใบนี้ สิ่งที่มีอยู่จริงที่เกินความสามารถทางประสาทสัมผัสของมนุษย์จะรับรู้ได้ยังมีอีกมาก ซึ่งพืชอาจจะรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ดีกว่าเราก็เป็นไปได้เลย

พืชกับการดำรงอยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Endosymbiosis theory of Lynn Margulis)

ถ้าจะถามว่าบนโลกใบนี้ถ้าจะมีสปีชีส์ไหนที่สูญพันธ์แล้วโลกยังคงอยู่ได้อีกนาน คำตอบน่าจะชัดเจนเลยว่า Homo Sapiens หรือมนุษย์เรานั้นเอง มนุษย์เราอาศัยความได้เปรียบในการครอบครองโลกใบนี้โดยละเลยต่อผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแบบนี้โดยที่ไม่แก้ไขปรับปรุงอะไรกลไกกาย่าน่าจะทำงานในรูปแบบที่เราจะหยุดไม่ได้แน่นอน

สำหรับรูปแบบการดำรงอยู่ที่เหมาะสม ทฤษฏีวิวัฒนาการของชาร์ด ดาร์วินน่าจะพออธิบายเป็นการเริ่มต้นเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ ตามทฤษฏียืนยันแล้วในระดับหนึ่งแล้วว่าจริง โดยที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกด้วยว่ามีการเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่ชาร์ด ดาร์วินพูดไว้ซะอีก โดยปัจจุบันคำว่า Epigenetics หรือเหนือกว่ากรรมพันธ์มีการพูดถึงกันมากขึ้นเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วตามสภาพแวดล้อม ซึ่งถ้าจะถามต่อไปว่าระวังคนกับพืชใครมีความสามารถในการปรับตัวได้ยั่งยืนและส่งผลกระทบกับสิ่งรอบข้างได้น้อยกว่ากว่ากัน ต้องบอกว่าพืชมีกระบวนการนี้มาช้านานแล้ว ในขณะที่เราเพิ่งจะมารู้จักกลไกการทำงานของ Epigenetics ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยกลไกการทำงานของพืชมีแนวคิดมาจากหลักการของ Lynn Margulis มีการเสนอรูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบใหม่ที่มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่มีการทำลายล้างซึ่งกันและกันแต่จะอยู่ร่วมกันโดยสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นอวัยวะของสิ่งมีชีวิตตัวหลักและอยู่ร่วมกันตลอดไปในรุ่นลูกรุ่นหลาน

ด้วยแนวคิดนี้เองมนุษย์ในฐานะของผู้ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเราในวันนี้ถูกต้องกับโลกใบนี้แล้วหรือยัง แล้วรูปแบบไหนที่จะทำให้โลกใบนี้อยู่ได้ เพราะเรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าโลกใบนี้ถ้าไม่มีมนุษย์โลกและสรรพสัตว์อื่นๆก็ยังอยู่ได้ แล้วรูปแบบไหนที่พวกเราควรจะดูเป็นตัวอย่างหล่ะ...คำตอบก็คือดูพืชเป็นตัวอย่าง เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจนหล่อเลี้ยงสรรพสัตว์บนโลกใบนี้ เมื่อตายลงไปก็ย่อยเป็นสารอาหารกลับให้กับโลก เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็เปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนใบเป็นหนาม เปลี่ยนใบใหญ่เป็นใบเล็กเป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้น่าจะพอเพียงที่จะทำให้มนุษย์โลกได้หยุดคิดเพื่อมาทบทวนตัวเองในการสนใจสิ่งรอบข้างให้มากขึ้น ไม่ยึดถือตัวเองและพรรคพวกเป็นใหญ่ เพราะพวกเราทั้งหลาย คน สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อมล้วนเป็นสมาชิกและองค์ประกอบที่สำคัญของโลกใบนี้พอๆกัน

คำแนะนำสำหรับสถานะการณ์ที่กำลังตึงเครียดอย่างเช่นทุกวันนี้ก็คือการหันมาปลูกพืชหรือผัก เพื่อเอาไว้ใช้บริโภคโดยควรเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมดิน การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิตรวมไปถึงการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธ์ ซึ่งถ้าเราได้เริ่มทำกระบวนการต่างๆเหล่านี้ด้วยตนเอง ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เราเพาะปลูกลงไปนั้นไม่ใช้เพียงแค่ต้นพืชต้นหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นการเพาะปลูกความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ที่เข้าใจระบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เหมือนอย่างที่พืชทำให้พวกเราดูมาแล้วเป็นล้านปี