ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยแรกภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่รัฐประหารยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ พบว่า จากฐานข้อมูลการอนุมัติงบประมาณของครม.ทั้งหมด 6.32 ล้านล้านบาท ครม.ได้อนุมัติเม็ดเงินไปเพื่อ “ภัยพิบัติ” และ “อุ้มเกษตรกร” ไปมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

โดยในกรณีแรกที่นับเฉพาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยทั่วไปแบบไม่เจาะจงว่าต้องประกอบอาชีพหรือทำอะไร คิดเป็นเม็ดเงินเพียง 104,000 ล้านบาท ขณะที่ในกรณีที่ 2 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งมักจะกระทบเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลายครั้งรัฐบาลจะใช้มาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้โดยตรงแทนและไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นการช่วยเหลือจากภัยพิบัติหรือจากเหตุอื่นใด ซึ่งในช่วง 5 ปีครม.จัดสรรเม็ดเงินกับการอุ้มเกษตรกรคิดเป็นเงินมากกว่า 927,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมองกลับไปเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” น่าจะเป็น 1 ในปัญหาที่ประชาชนคนไทยต้องประสบกันอยู่ทุกปี มากบ้างน้อยมากแตกต่างกันไปในแต่ละปี ปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูลภัยพิบัติเพิ่มเติมจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ย้อนหลังไป 30 ปีตั้งแต่ปี 2532-2561 ว่าการจัดการบริหารภัยพิบัติในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะ “ภัยแล้ง” และ “น้ำท่วม” ซึ่งเป็นภัยพิบัติหลักที่ประสบกันทุกปี ว่า มีต้นทุนในมิติต่างๆมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงสะท้อนการพัฒนาหรือแก้ไขบรรเทาปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมเพียงใด

“ภัยแล้ง” กระทบประชาชน 9.7 ล้านคน – พื้นที่เกษตร 2.57 ล้านไร่

เริ่มต้นจากข้อมูล “ภัยแล้ง” พบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยแล้วในเชิงพื้นที่จะมีจังหวัดที่ประสบภัยจำนวน 57 จังหวัด (หรือคิดเป็น 75% ของจังหวัดทั้งหมด) 525 อำเภอ (หรือคิดเป็น 60% ของจำนวนอำเภอทั้งหมด) 3,321 ตำบล (หรือคิดเป็น 46% ของจำนวนตำบลทั้งหมด) และ 24,900 หมู่บ้าน (หรือคิดเป็น 33% ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด)

ในแง่ความเสียหาย มีจำนวนประชาชนที่ประสบภัยโดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 9.71 ล้านคนในทุกๆปี หรือประมาณ 15% ของประชาชนทั้งหมดจะต้องประสบภัยแล้งในทุกๆปี มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 2.571 ล้านไร่ต่อปี ปศุสัตว์เสียหายเฉลี่ย 661 ตัว และมีมูลค่าความเสียหายรวม 656.62 ล้านบาทต่อปี สุดท้ายในด้านการให้ความช่วยเหลือ ต้องใช้รถบรรทุกน้ำ 1,253 คัน เครื่องสูบน้ำ 2,858 ล้านเครื่อง แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคอีก 950 ล้านลิตร และใช้เงินทดรองจ่ายราชการ (เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2545) เฉลี่ยปีละ 1,026 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากดูการเปลี่ยนแปลงของภัยแล้งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยรอบละ 5 ปี พบว่าพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งได้ทรงตัวตลอดระยะเวลา 25 ปีแรกตั้งแต่ปี 2532-2556 ขณะที่ในช่วง 5 ปีสุดท้ายระหว่างปี 2557-2561 พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งในระดับหมู่บ้านได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือประมาณครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับจำนวนประชาชนที่ประสบภัยที่ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งสาเหตุอาจจะเป็นวัฎจักรทางธรรมชาติคือในช่วงปี 2560 เป็นปีที่เกิดภัยแล้งค่อนข้างน้อย และปี 2561 ไม่ปรากฏข้อมูลภัยแล้ง แต่จะมีปรากฏข่าวให้เห็นว่ามีภัยแล้งอยู่ นั่นอาจจะหมายถึงการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้นของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

“น้ำท่วม” กระทบ 4.5 ล้านคน พื้นที่เกษตร 7.5 ล้านไร่ บ้านเรือนนับหมื่นหลัง

สำหรับ “น้ำท่วม” พบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าโดยเฉลี่ยจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมปีละ 9 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ 63 จังหวัด (83% ของจังหวัดทั้งหมด) 532 อำเภอ (61% ของอำเภอทั้งหมด) 2,719 ตำบล (37% ของตำบลทั้งหมด) และ17,867 หมู่บ้าน (24% ของหมู่บ้านทั้งหมด) โดยกระทบกับประชาชนเฉลี่ยปีละ 4.5 ล้านคน หรือประมาณ 7% ของประชากรทั้งหมดในทุกๆปี

ขณะที่ในด้านความเสียหายด้านทรัพย์สินพบว่ามีบ้านเสียหายประมาณ 45,482 หลังต่อปี โรงแรม อพาร์ทเมนท์ โรงงาน และโรงสี เสียหายปีละ 100 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 50,000 บ่อ และปศุสัตว์ปีละ 350,000 ตัว พื้นที่การเกษตรอีก 7.56 ล้านไร่ โดยตีเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ปีละ 5,361 ล้านบาท นอกจากนี้ ในแง่ความเสียหายทางด้านสาธารณูปโภค พบว่ามีถนนเสียหายปีละ 10,670 สาย สะพาน 826 แห่ง ทำนบ ฝาย และเหมืองปีละ 1,441 แห่ง วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ ปีละ 1,447 แห่ง และท่อระบายน้ำ 1,512 แห่งที่ต้องซ่อมแซมใหม่

เช่นเดียวกันกับภัยแล้งการเปลี่ยนแปลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่าน้ำท่วมเริ่มลดลงในช่วงหลังอย่างชัดเจน โดยในช่วง 10 ปีหลังมานี้ จากที่ต้องเผชิญประมาณ 10-11 ครั้งต่อปีในช่วง 20 ปีแรก เหลือเพียงปีละ 5 ครั้ง อย่างไรก็ตาม หากดูพื้นที่ที่ประสบภัยจะพบว่าไม่ได้ลดลงเท่าไหร่หนัก โดยตลอดระยะเวลาจะมีหมู่บ้านประสบภัยประมาณ 10,000-19,000 หมู่บ้าน ยกเว้นช่วงปี 2552-2556 ที่จำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 36,000 หมู่บ้าน เนื่องจากภัยน้ำท่วมที่รุนแรงในช่วงนั้น เช่นเดียวกับประชาชนที่ประสบภัยที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 2-4 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจของน้ำท่วมคือความเสียหายที่นอกเหนือไปจากพื้นที่การเกษตรที่มีมากกว่าภัยแล้งและไม่ได้ลดลงมากนักในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน อาคาร ถนน ซึ่งสะท้อนถึงความเร่งด่วนและการบริหารจัดการที่ต้องลงไปดูแลมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การประเมินความก้าวหน้าของการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำท่วม ของรัฐบาลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและอาจจะต้องอาศัยข้อมูลในระดับพื้นที่ที่ละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งในตอนต่อๆไปจะดึงข้อมูลเหล่านี้ในรายหมู่บ้าน เพื่อแสดงให้เห็นการประสบภัยพิบัติซ้ำซ้อนในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาและตั้งคำถามไปถึงการบริหารจัดการที่ดีในอนาคต

SOURCE : www.thaipublica.org