วันนี้ผมมีเรื่องที่อยากจะเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง และมีคำถามที่อยากจะถามเพื่อนๆ ตอนท้ายเรื่องนะครับ

นาย ก (นามสมมติ) มีลูกชายอายุสิบขวบอยู่คนหนึ่งชื่อว่าน้อง “เดโม” วันหนึ่งน้องเดโมกลับมาที่บ้านพร้อมๆ กับจดหมายจากคุณครูที่เขียนเอาไว้ว่าวันนี้น้องเดโมไปขโมยปากกาลูกลื่นของเพื่อนใส่กระเป๋าตัวเองแล้วถูกจับได้ เมื่อนาย ก ได้อ่านจดหมายนั้นเสร็จเรียบร้อยนาย ก ก็ถึงกับโมโหและได้สั่งสอนน้องเดโมว่า

“เดโม นี่ลูกทำอย่างนี้ได้ยังไง ลูกไปขโมยปากกาของเพื่อนเขาอย่างนี้ได้ยังไง พ่อไม่เคยสอนลูกอย่างนี้เลยนะ มันไม่ดีเข้าใจไหม อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเดโมต้องการปากกาจริงๆ ทำไมเดโมไม่มาบอกพ่อ วันหลังอะนะ ถ้าเดโมอยากจะได้ปากกาให้มาบอกพ่อก่อนเข้าใจไหม พ่อจะได้ไปหยิบปากกาของบริษัทพ่อกลับบ้านมาให้”

อ่านจบกันแล้วใช่ไหมครับ งั้นผมขอถามหน่อยว่าคุณคิดว่าสิ่งที่นาย ก พูดให้ลูกเขาฟังนั้นเป็นอะไรที่ถูกหรือผิดไหมครับ หรือไม่ใช่ทั้งถูกหรือผิด เพราะมันฟังดูเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก และถ้าคุณเป็นนาย ก เองล่ะ คุณจะทำอย่างที่เขาทำไหม

สำหรับคนที่ฟังดูว่ามันเป็นเรื่องที่ธรรมดาล่ะก็ โอกาสที่คุณจะเป็นคนหนึ่งที่ “ชินชา” กับพฤติกรรมการโกงไปแล้วนั้น —โดยที่ตัวคุณเองอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าชินกับการโกงไปเรียบร้อยแล้ว— ก็จะสูงตามๆ กันไปด้วย

และโอกาสที่น้องเดโมจะโตขึ้นเป็นคนที่โกงแต่ไม่คิดว่าตัวเองโกงก็จะสูงขึ้นตามไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งเราสามารถอธิบายพฤติกรรมของนาย ก และน้องเดโมได้ด้วยทฤษฎีที่มีชื่อว่า social learning นะครับ

social learning ก็คือการที่คนเรามักจะเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติที่เรามีตามคนอื่นๆ ในสังคมที่อยู่รอบกายของเรานะครับ ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้จากการมองคนอื่นๆ ว่าเขาทำอะไรกัน (คล้ายๆ กันกับสุภาษิตไทยที่ว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามนะครับ) และ social learning นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่แค่กลุ่มเดียวนะครับ กับเด็กๆ ก็เกิด

ยกตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่าเวลาที่เด็กเล็กๆ เห็นผู้เป็นพ่อเป็นแม่เล่นกับตุ๊กตาแรงๆ พอถึงตาเขาได้เล่นบ้างเด็กเขาก็จะเล่นแรงๆ กับตุ๊กตาตัวนั้นเช่นเดียวกัน และผลจะกลับกันถ้าเด็กเห็นพ่อแม่ของเขาเล่นกับตุ๊กตาดีๆ

การโกงก็ไม่ต่างกันนะครับ

สาเหตุส่วนหนึ่งที่นาย ก มองว่าการขโมยปากกาของเด็กเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่กลับมองการไปหยิบเอาปากกาจากบริษัท ซึ่งเป็นทรัพยากรของบริษัท มาให้ลูกตัวเองว่าเป็นเรื่องที่โอเค อาจจะเป็นเพราะว่านาย ก เห็นคนอื่นๆ เขาก็ทำกัน เขาก็เลยเห็นว่ามันเป็น norm (บรรทัดฐานในสังคม) ไม่ใช่อะไรที่ผิด (และถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่นาย ก ทำนั้นมันไม่ผิด คุณเองก็อาจจะเรียนรู้จากการมองพฤติกรรมของคนอื่นในบริษัทของคุณมาก่อน จนทำให้คุณคิดว่ามันเป็น norm และไม่ใช่พฤติกรรมที่แย่อะไร เช่นเดียวกัน)

ส่วนน้องเดโม การที่น้องเดโมเห็นนาย ก ที่เป็นพ่อบอกว่าการนำปากกาจากบริษัทมาให้เขาใช้ไม่ได้เป็นอะไรที่ผิด โอกาสที่เขาจะเปิดรับความคิดอย่างนี้ว่ามันเป็นอะไรที่ยอมรับกันได้ในสังคมก็จะสูง และโอกาสที่เขาจะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่โกง (แต่ไม่คิดว่าเขาโกง) ก็จะสูงขึ้นตามๆ กันไป

อีกอย่างหนึ่ง โอกาสที่น้องเดโมจะเกิดพฤติกรรมที่มีชื่อว่า criminal spin หรือปรากฏการณ์ที่การโกงเล็กๆ น้อยๆ ในครั้งแรกจะส่งผลไปถึงการโกงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปด้วย

สรุปก็คือ เราอยากจะให้คนรุ่นใหม่อย่างน้องเดโมโตขึ้นไปเป็นคนที่โกงโดยที่เขาไม่คิดว่าเขาโกงมากน้อยขนาดไหนครับ อันนี้เราอาจจะต้องถามนาย ก ในใจของเราดูกันนะครับว่านาย ก ในใจของเราเขาจะตัดสินใจเป็น role model ที่ดีให้กับน้องเดโมไหมนะครับ 

ป.ล. เรื่องที่ผมเล่าข้างบนนั้นมาจากเรื่องเล่าตลกๆ ของ Dan Ariely นะครับ ผมไม่ได้แต่งขึ้นมาเอง

SOURCE : www.thaipublica.org