• การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019 n-CoV) ส่งผลให้ทางการจีนใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไม่ว่าจะเป็นการปิดเมืองที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หรือแม้แต่ภาคธุรกิจในจีนเองก็หยุดกิจการชั่วคราว สิ่งเหล่านี้กระทบต่อความต้องการสินค้าจากไทยในปี 2563 ยิ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทยที่อ่อนแรงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้นไปอีก

  • นอกจากผลต่อการส่งออกสินค้าไทยไปจีนแล้ว ยังมีความเสี่ยงใหม่ที่อาจทำให้การนำเข้าสินค้าขั้นกลางของไทยจากจีนต้องประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในกรณีที่ 1 หากทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ภายใน 1 เดือน จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตไทยที่เชื่อมโยงกับจีนค่อนข้างจำกัด แต่จะกระทบการส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภคเป็นหลักที่คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูญเสียไป 400-800 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ในกรณีที่ 2 หากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในจีนขยายระยะเวลาเป็นประมาณ 1 ถึง 3 เดือน จากข้อมูลเบื้องต้นประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการ 1,500-6,000 ล้านดอลลาร์ฯ) ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการปิดเมืองสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติมแค่ไหน และยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนอาจนำมาใช้ในระยะต่อไป โดยผลดังกล่าวประกอบด้วยผลกระทบด้านการส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภครวมกับสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบขั้นกลางของไทยที่ส่งไปจีนคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูญเสียไป 900-1,500 ล้านดอลลาร์ฯ และผลจากการนำเข้าสินค้าขั้นกลางของไทยจากจีนกลุ่มเสี่ยงที่อาจขาดแคลน อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับค่ายรถยนต์จีน โดยผลจากการนำเข้าที่หายไปทำให้การผลิตในไทยสูญเสียประโยชน์ 600-4,500 ล้านดอลลาร์ฯ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (2019 n-CoV) ขยายวงกว้าง จนกระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกระดับสถานการณ์เป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ขณะที่การแพร่ระบาดในจีนได้ขยายออกจากจุดศูนย์กลางที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ไปหลายพื้นที่ นำมาสู่การสั่งปิดเมืองไท่โจวกับหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง หรือแม้แต่ภาคธุรกิจในหลายพื้นที่ของจีนเองก็หยุดกิจการชั่วคราวเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจมีผลต่อธุรกิจของไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ในปัจจุบันไทยพึ่งพาจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าของสินค้าขั้นกลางถึงร้อยละ 45 และร้อยละ 46 ของการส่งออกและการนำเข้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

              จากสถานการณ์ ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ระดับผลกระทบที่เกิดต่อไทยขึ้นอยู่กับห้วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละมณฑลของจีนอันจะส่งผลสำคัญต่อภาคการส่งออกและการผลิตของไทยแตกต่างกันไป ดังนี้

 

กรณีที่ 1 หากทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในประเทศได้ภายใน 1 เดือน ท่ามกลางการลุกลามไปหลายพื้นที่จนทางการจีนต้องประกาศสั่งปิดหลายเมืองเพิ่มเติม ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจบางส่วนต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ชั่วคราว กระทบการจับจ่ายของประชาชนทั่วประเทศจีนชะงักงันตามความวิตกกังวลของการแพร่ระบาด ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดต่อไทยในชั้นแรกจะอยู่ที่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอาหารเป็นหลัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปจีนในไตรมาส 1/2563 เป็นหลัก โดยสินค้าที่น่าจะมีความต้องการนำเข้าชะลอตัว ได้แก่ ผลไม้ ข้าว ไก่ กุ้ง เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋อง และอาหารทะเลกระป๋อง ทั้งนี้ ปัจุบันไทยส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปจีนมีมูลค่าราว 7.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 และคิดเป็นร้อยละ 25 ของการส่งออกของไทยไปจีน

              อนึ่ง การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองอู่ฮั่นศูนย์อันเป็นกลางการแพร่ระบาด และรวมกับบางเมืองในมณฑลเจ้อเจียงในระยะสั้นเพียง 1 เดือน กระทบต่อการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ในจีนค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีสต็อกสินค้าเพียงพอ อีกทั้งสายการผลิตในจีนน่าจะสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตจากพื้นที่อื่นในจีนมาทดแทนได้ชั่วคราว จึงไม่น่าจะกระทบความต้องการสินค้าขั้นกลางจากไทยตลอดปี 2563 แต่ถ้าหากการแพร่กระจายของไวรัสยืดเยื้อต่อไป ห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมข้างต้นคงยากจะเลี่ยงผลกระทบ

              กรณีที่ 2 หากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในจีนขยายระยะเวลาเป็นประมาณ 1 ถึง 3 เดือน โดยล่าสุดทางการจีนประกาศปิดเมืองเพิ่มขึ้นทั้งเมืองไท่โจวกับหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง อันเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทต่อภาคการผลิตและการส่งออกของจีนมากกว่าเมืองอู่ฮั่น ซึ่งถ้าหากยังควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปิดเมืองที่มียอดผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงอย่างเมืองในมณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ หยุนหนาน กว่างซี และพื้นที่อื่นๆ ตามมา ยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งในจีนและธุรกิจในต่างประเทศที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้

              ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีที่ 2 นี้ไม่เพียงซ้ำเติมการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารจากไทยยิ่งทรุดตัวมากขึ้น บวกกับการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยชะลอตัวตามกิจกรรมการผลิตในจีน ยังส่งผลกระทบอีกด้านมาสู่การนำเข้าของไทยทำให้ธุรกิจไทยขาดแคลนสินค้าขั้นกลางในการผลิต โดยเฉพาะ 3 ธุรกิจเสี่ยงอย่างอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-70 มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ประกอบธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาจีนเป็นหนึ่งแหล่งนำเข้าหลักในสัดส่วนที่สูงกว่าภาพรวม (การนำเข้าสินค้าขั้นกลางของไทยจากจีนในภาพรวมมีสัดส่วนที่ร้อยละ 23 ของการนำเข้าสินค้าขั้นกลางของไทยจากโลก) ดังนี้

  • ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีความเชื่อมโยงกับจีนทั้งการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปจีนและต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเข้า IC แบตเตอรี่/เซลล์ปฐมภูมิ และไดโอด/ทรานซิสเตอร์ ล้วนพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนร้อยละ 52 ร้อยละ 34 และร้อยละ 29 ตามลำดับ ในปัจจุบันการปิดเมืองอู่ฮั่นที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ชิปหน่วยความจำ จอภาพ LED และชิ้นส่วน HDD ที่ล้วนเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ในประเทศจีน ซึ่งหากมีการปิดเมืองอื่นๆ เพิ่มเติมยิ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตในจีนติดขัดและส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจไทยทั้งการนำเข้า และการส่งออกเองที่ปัจจุบันก็อ่อนไหวอยู่แล้วจากประเด็นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ธุรกิจยานยนต์นับว่ามีห่วงโซ่การผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ในเบื้องต้นคาดว่านอกจากผลกระทบโดยตรงที่ไทยจะได้รับทั้งจากการส่งออกและนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากอู๋ฮั่นที่ลดลงแล้ว การแพร่ระบาดที่ลุกลามยังส่งผลกระทบกระจายวงกว้างออกไปสู่การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ระดับ Tier 2 หรือ 3 ของไทยไปญี่ปุ่นเพื่อนำไปผลิตต่อเป็นชิ้นส่วนระดับ Tier 1 ก่อนส่งออกไปประกอบเป็นรถยนต์ในอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่แห่งหนึ่งในจีนได้ โดยการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นไปอู๋ฮั่นมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.8 ของการ

  • ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดของญี่ปุ่นไปจีน สำหรับค่ายรถยนต์อื่นที่ตั้งฐานการผลิตพื้นที่ที่เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสรุนแรงมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาเดียวกันในระยะต่อไปได้
  • อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับเคมีภัณฑ์มีความเสี่ยงเผชิญผลกระทบสองทางทั้งขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้าและตลาดส่งออกซบเซา ในปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าเคมีอนินทรีย์และเคมีอินทรีย์จากจีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 และร้อยละ 24 ตามลำดับ โดยสินค้าดังกล่าวเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นผลกระทบคงไม่ได้จำกัดแค่ภาคการผลิตเคมีภัณฑ์เท่านั้น แต่การผลิตในไทยที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบต้นน้ำมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแค่เฉพาะเมืองอู่ฮั่นก็เป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของธุรกิจไทย อาทิ สารประกอบอะมีนฟังก์ชันที่นำเข้าจากพื้นที่ดังกล่าวถึง 1 ใน 4 ของการนำเข้าจากจีน หรือแม้แต่มณฑลเจ้อเจียงเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของตลาดส่งออกของไซคลิกไฮโดรคาร์บอนที่สำคัญของไทยถึงร้อยละ 14 เช่นกัน

              ในระยะต่อไป คงต้องจับตาความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหากนำมาสู่การปิดเมืองในมณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ที่นับว่าเป็นทั้งแหล่งผลิตและประตูการค้าที่สำคัญของประเทศ ที่ไม่เพียงทำให้การส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และสินค้าขั้นกลางที่คงทรุดตัวมากขึ้น แต่การอ่อนแรงของเศรษฐกิจจีนคงมีผลต่อความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยเองก็ส่งออกไปตลาดนี้ถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ถั่ว ธัญพืช และไม้ ล้วนส่งผลกระทบตรงสู่ภาคเกษตรกรไทยที่ต้องติดตามต่อไป

โดยสรุป ในระยะสั้นกรณีที่ 1 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในจีนมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเฉพาะไตรมาส 1/2563 เท่านั้น คิดเป็น 400-800 ล้านดอลลาร์ฯ และจำกัดแค่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเป็นหลัก หลังจากนั้นการส่งออกจะทยอยฟื้นตัว แต่ในกรณีที่ 2 ถ้าหากการแพร่กระจายของไวรัสกินเวลานานตลอดไตรมาส 1/2563 และมีการปิดเมืองสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจในไทยอาจประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบขั้นกลางจากจีนที่ไทยพึ่งพาจีนในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 23 โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคอมพิวเตอร์และยานยนต์ในกลุ่มวงจรพิมพ์ แบตเตอรี่/เซลล์ปฐมภูมิสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มเคมีภัณฑ์อนินทรีย์และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ ตัวถังรถยนต์ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการผลิตแก้ว เซรามิก และเหล็กก็อาจประสบปัญหาเดียวกันที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะที่การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปจีนที่ได้รับผลกระทบหลักๆ ที่สำคัญอยู่ในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งซ้ำเติมธุรกิจส่งออกของไทยที่ยังต้องเผชิญการอ่อนแรงจากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากขึ้นไปอีก ดังนั้น ด้วยสภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนและข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่ 2 ที่ไวรัสแพร่กระจาย 1 ถึง 3 เดือน ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ โดยยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ถ้าหากเชื้อไวรัสลุกลามไปสู่พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ จนทางการต้องใช้มาตรการปิดเมืองเพิ่มเติม ผลกระทบที่มีต่อศรษฐกิจไทยอาจทยอยขยับสูงขึ้นแตะกรอบบนของประมาณการที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยแบ่งเป็นผลกระทบด้านการส่งออกของไทยที่สูญเสียไป 900-1,500 ล้านดอลลาร์ฯ และผลต่อภาคการผลิตของไทยจากการขาดแคลนวัตถุดิบนำเข้าจีนคิดเป็นมูลค่า 600-4,500 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนอาจนำมาใช้ในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากไวรัสโคโรน่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ

กรณีคาดการณ์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

มูลค่าผลกระทบ

กรณีที่ 1 กรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน กระทบเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารในช่วงไตรมาส 1/2563 เป็นหลัก

·    การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารชะลอตัว

·    การส่งออกสินค้าขั้นกลางบางส่วนชะลอตัวระยะสั้นส่งผลกระทบจำกัด

กระทบต่อภาคการส่งออกไปจีน

400-800 ล้านดอลลาร์ฯ

กรณีที่ 2 กรอบระยะเวลา 1 - 3 เดือน กระทบทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก/นำเข้าสินค้าขั้นกลาง

·    การส่งออกของไทยไปจีนซบเซา กระทบสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร รวมถึงสินค้าขั้นกลางบางรายการโดยเฉพาะเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์

·    ไทยไม่สามารถนำเข้าจากจีนได้ ธุรกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องขาดแคลนสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (IC, แผ่นวงจรพิมพ์, ชิ้นส่วน HDDs) เคมีภัณฑ์ขั้นต้น ธุรกิจยานยนต์ของค่ายรถยนต์จีนเป็นหลัก (ความรุนแรงขึ้นกับการปิดเมืองในจีน กรณีดีปิดบางพื้นที่ในเหอเป่ย์และเจ้อเจียง กรณีเลวร้ายการปิดเมืองลุกลามไปกวางตุ้งเซี่ยงไฮ้ หยุนหนาน กว่างซีและพื้นที่อื่นๆ)

กระทบต่อภาคการส่งออกไปจีน

900-1,500 ล้านดอลลาร์ฯ

กระทบต่อการผลิตในไทยคิดเป็น

600-4,500 ล้านดอลลาร์ฯ

รวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ

(กรอบบนของประมาณการอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง)

หมายเหตุ: ผลกระทบด้านการส่งออกของไทยยังไม่รวมผลจากการปิดด่านพรมแดนกว่างซีของจีน ซึ่งจีนนำเข้าสินค้าจากไทยผ่านกว่างซี (ทั้งทางบกและทางเรือ) คิดเป็นร้อยละ 2.6 ของการนำเข้าสินค้าไทยทั้งหมดของจีน 

ที่มา: ประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ กุมภาพันธ์ 2563