เมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ค่าโดยสารรถเมล์จะปรับขึ้นตามมติขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ด้วยเหตุผลหลัก คือมีการชะลอการขึ้นราคามาหลายปีแม้จะได้รับการร้องขอปรับราคาจากผู้ประกอบการเอกชน อัตราค่าโดยสารก่อนปรับไม่สัมพันธ์กับต้นทุนจริง และการปรับราคาครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันและปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น เนื่องจากรถรุ่นที่ใหม่กว่าจะเก็บค่าโดยสารได้มากกว่าตามไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือรถตู้ และรถสองแถวเตรียมขยับจะปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ท่ามกลางการตั้งคำถามถึงคุณภาพของบริการว่าดีกว่าเดิมหรือไม่ และหลายคนเลือกจะขับรถมากกว่าใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กรุงเทพเป็นหนึ่งในเมืองที่รถติดที่สุดเมืองหนึ่งในโลก

รถติดเพราะอะไร

มีคำตอบมากมายสำหรับคำถามนี้ ทั้งเรื่องการวางผังเมือง วินัยการจราจร ตลอดจนสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ แต่คำตอบที่ดูจับต้องได้ที่สุด และมีตัวเลขยืนยันน่าเชื่อถือคือ รถติดเพราะในกรุงเทพมหานครจำนวนรถมีจำนวนมากกว่าพื้นผิวการจราจร โดยสถิติจากกรมการขนส่งทางบก พบว่าในเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพมหานครรวมกันทั้งหมด 10,193,685 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน หรือรถเก๋งมากที่สุด จำนวน 4,585,242 คัน ไม่นับรถยนต์ทะเบียนจังหวัดอื่นที่เข้ามาวิ่งในกรุงเทพด้วย ในขณะที่หากมองลักษณะผังเมืองกรุงเทพมหานคร เส้นทางการจราจรเป็นไปในลักษณะกระจุกตัว ประกอบกับทำเลที่เป็นศูนย์กลางของบริเวณดังกล่าวมักเป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลให้ถนนกลายเป็นพื้นที่ให้รถไปรวมตัวกัน กินพื้นผิวจราจรที่มีอยู่เพียง 10% ของพื้นที่ทั้งหมดเข้าไปอีก และพื้นผิวการจราจร 10% ข้างต้น ก็ไม่ใช่พื้นที่ที่สามารถใช้งานได้จริงทั้งหมด เพราะมีการปิดถนนเพื่อก่อสร้างปรับปรุงผังเมืองใหม่อยู่เรื่อยๆ

รถติดสร้างปัญหาอะไรบ้าง

ปัญหาที่มากับรถติดไม่ใช่ปัญหาเรื่องการจราจรโดยตรง แต่เป็นปัญหาด้านต้นทุนอื่นๆ ที่ผู้ตกอยู่ในสภาวะรถติดต้องแบกรับ เช่นต้นทุนด้านเวลา มีผลสำรวจออกมาว่าคนกรุงเทพเสียเวลาไปกับรถติดปีละ 61 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย เป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก แม้เวลา 2.5 วันนี้จะไม่ถือว่านานแต่ถ้าคิดว่าเป็นวันพักร้อนที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็สามารถนับเป็นต้นทุนได้ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียในระยะยาว

รถติดสร้างโอกาสทางการลงทุนอย่างไร

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรถติดมีด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ คือจำนวนรถและการจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยทางตรง และปัจจัยทางอ้อมคือต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่นๆ หากมองในเชิงแก้ปัญหา จะสามารถแตกประเภทธุรกิจที่น่าลงทุนได้หลากหลายขึ้น ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์ขอแยกออกเป็น 2 ส่วนตามที่กล่าวมาแล้ว คือ

ลงทุนกับปัจจัยทางตรง

หมายถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรถติดโดยตรง นั่นคือการลงทุนกับกลุ่มรถยนต์และการวางโครงสร้างเมือง ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้ที่สามารถลงทุนได้คือ

ลงทุนกับกลุ่มยานยนต์และการผลิต(Auto)

จากจำนวนผู้จดทะเบียนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าความต้องการการใช้รถยังมีอยู่มาก กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์จึงยังน่่าสนใจ แม้ประเทศไทยไม่มีกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่มักดำเนินการในลักษณะฐานการผลิตและตัวแทนจัดจำหน่ายมากกว่า ซึ่งหุ้นในกลุ่มยานยนต์(Auto) ของไทยมีอยู่หลายตัว ราคาซื้อขายต่อหน่วยค่อนข้างผันผวนและเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือไม่ขึ้นสูงจนยั่วใจ แต่ก็ไม่ตกจนน่าใจหาย ถ้ามองด้านผลประกอบการโดยรวมจะพบว่า บริษัทในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยขาดทุน อาจมีกำไรลดลงบ้างในกลุ่มผู้ผลิตยาง เช่น GoodYear หรือ GYT แต่มีการปันผลที่เพิ่มขึ้นและค่อนข้างสม่ำเสมอ จะมีบ้างบางรายที่กำไรลดลงและไม่มีกำไรแต่เป็นหุ้นที่มูลค่าขายต่อหน่วยไม่สูงมากอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าสนใจลงทุนกับหุ้นกลุ่ม Auto การลงทุนแบบระยะยาวเก็บกินปันผลจะปลอดภัยกว่า

ในขณะที่การลงทุนเพื่อรถยนต์แห่งอนาคต เช่นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับทั้งหลายต้องไปลงทุนกับหุ้นต่างประเทศแทน

ลงทุนกับกลุ่มขนส่งมวลชน(Trans)

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่าระบบขนส่งมวลชนที่ดีเป็นเครื่องหมายหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหากมองในมุมของประเทศไทยเราจะพบว่าระบบขนส่งที่เกี่ยวข้องกับรถติดและมีมูลค่าพอเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มีอยู่ 2 ตัว คือ BTS กับ BEM ซึ่งมีกำไรเป็นบวกทั้งคู่ แต่ปันผลน้อยทั้งคู่เช่นกัน โดยในส่วนของ BTS นั้นมีการปันผลที่ลดลงด้วย หากพิจารณาในส่วนนี้จะพบว่า การถือหุ้นกลุ่มขนส่งมวลชนนั้นถือว่าสดใส ไม่ว่าจะอยากถือในช่วงสั้นๆ แล้วซื้อมาขายไป หรือเก็บไว้แล้วกินกำไรเล็กน้อยก็ดูดี

ลงทุนกับกลุ่มประกันรถยนต์(Insur)

คนส่วนใหญ่รักรถ เพราะเป็นทรัพย์สินที่ซื้อมาด้วยมูลค่าสูง และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นค่าซ่อมก็ไม่น้อยเช่นกัน ธุรกิจประกันรถยนต์จึงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ทั้งสำหรับผู้ใช้รถที่ต้องการความปลอดภัยให้กับรถของตัวเอง และกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดหุ้น เพราะบริษัทประกันรถยนต์ขนาดใหญ่หลายแห่งออกหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยหุ้นที่มีราคาเสนอขายและมูลค่าในตลาดสูงสุดคือหุ้นของกรุงเทพประกันภัน(BKI) ที่ราคาเสนอขายสูงถึง 325 บาท และมีทิศทางเป็นบวกมาโดยตลอด แต่การลงทุนกับธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะ มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนโยบายบ่อยครั้ง ดังนั้นถ้าจะลงทุนกับธุรกิจนี้ต้องระวังให้ดี

ลงทุนกับกลุ่มพลังงาน(Energ)

ในปัจจุบัน รถยนต์ยังวิ่งด้วยน้ำมัน ซึ่งบริษัทผู้ประกอบการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงหลายเจ้าก็อยู่ในตลาดหุ้น และผลประกอบการมักไปในทางมีกำไร มากบ้างน้อยบ้างตามความผันผวนของตลาดแต่ละปี และมีปันผลที่เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ ทั้งบริษัทพลังงานเจ้าใหญ่แบบ PTT หรือ Esso ราคาเสนอขายและปริมาณหุ้นถือว่ากลางๆ ซึ่งถ้าจะลงทุนระยะสั้นในแนวทางนี้ต้องขยันเฝ้ากระดานพอสมควร

ลงทุนกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์(Prof)

สิ่งที่จะตามมากับการไม่มีพื้นผิวจราจรและขยายแหล่งความเจริญคือการกระจายตัวของที่อยู่อาศัย เราจึงเห็นคอนโดมิเนียมเส้นรอบรถไฟฟ้า หรือหมู่บ้านบริเวณใกล้ทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะคนเลือกจะใช้เงินเพื่อซื้อเวลามากขึ้น การอยู่ในที่ที่เดินทางง่ายไม่ต้องเสียเวลาไปบนถนนจึงเป็นการลงทุนที่หลายคนเลือก หากสนใจลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ เพียร์ พาวเวอร์ เคยพูดถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนมาบ้างแล้ว  การลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจ เพราะสภาพคล่องและความล้นตลาดของมัน

แต่ละประเภทของธุรกิจที่กล่าวมา จะมีความเสี่ยง และปัจจัยก่อให้เกิดความผันผวนด้านราคาและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจกลุ่มประกันบางครั้งจะถูกจัดไว้ในการลงทุนประเภทการออมด้วย หากเป็นประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตระยะยาว  

รถติดแบบนี้ลงทุนกับปัจจัยทางอ้อมได้อย่างไร

กลุ่มนี้จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอื่นๆ จากการจราจร เช่นธุรกิจสั่งอาหาร หรือธุรกิจเรียกรถเป็นต้น กลุ่มนี้ในประเทศไทยที่เห็นชัดๆ เช่นแกรบ เก็ทฟู้ด ออนเนสบีส์ ฟู้ดแพนด้า ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสตาร์ทอัพ การลงทุนในกลุ่มนี้จึงเป็นไปได้ในลักษณะ Angel Investor เป็นต้น

แม้รถติดจะเป็นเรื่องน่าเบื่อ และแก้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น แต่ถ้าเรามองโครงสร้างของรถติดอย่างเข้าใจ จะพบว่าโอกาสในการลงทุนเพราะเหตุการณ์นี้มีอยู่ไม่น้อยเลย

SOURCE : www.peerpower.co.th