“95% ของธุรกิจเกิดใหม่นั้นล้มเหลว”

ผมว่าเราทุกคนคงน่าจะเคยได้ยิน หรือได้ฟังประโยคในทำนองนี้กันมาบ้าง อ้างอิงจาก U.S. Small Business Administration ที่ได้สำรวจมาว่า มากกว่า 50% ของธุรกิจใหม่จะล้มเหลวภายในปีแรก และ 95% ของธุรกิจเกิดใหม่จะล้มเหลวภายในห้าปี


ดังนั้นเมื่อเราต้องเริ่มทำธุรกิจคำถามที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ “จะต้องทำยังไงล่ะ เราถึงจะไม่ไปอยู่ใน 95% นั้น” ทำยังไงให้การสร้างธุรกิจใหม่ของเราเข้าไปอยู่ใน 5% ที่เหลือ

ตัวผมเองหลายครั้งก็มักจะได้รับคำถามในทำนองนี้เช่นกัน ในบทความนี้ผมเลยขอถือโอกาสมาเล่าให้ฟังจากมุมมองของผมว่า เมื่อเราต้องเริ่มธุรกิจใหม่มีอะไรบ้างที่เราควรตระหนักหรือคำนึงถึงเป็นพิเศษบ้าง เริ่มเลยนะครับ

1. ทำการบ้านและศึกษาข้อมูลให้เยอะ (Deep Dive Research)


คุณต้องรู้จักและเข้าใจในธุรกิจที่คุณกำลังจะเข้าไปทำให้ดี รู้ว่าในตลาดที่คุณกำลังลงไปเล่นนั้นเขาแข่งขันกันด้วยอะไร เพราะอะไรลูกค้าถึงต้องซื้อของคุณ คุณสามารถสร้างข้อแตกต่างหรือข้อได้เปรียบอะไรบ้าง และเริ่มวางแผนบนกระดาษก่อนที่จะลงเงินจริง ๆ หนึ่งในเครื่องมือที่นิยมใช้กันมากที่สุด ก็คือ Business Model Canvas ที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเองครับ

ซึ่ง Business Model Canvas นั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 9 ข้อที่สำคัญครอบคลุมการทำธุรกิจทุกประเภท ดังนี้ครับ

  1. Value Propositions : คุณค่า/จุดแข็ง ของสินค้าหรือบริการของเราคืออะไร
  2. Customer Segment : กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร สินค้าเราจะขายใคร
  3. Channels : เราจะสามารถจัดส่งหรือเข้าถึงลูกค้าได้ในช่องทางไหนบ้าง
  4. Customer Relationships : เรามีวิธีที่จะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าของเราอย่างไร
  5. Revenue Streams : เรื่องนี้สำคัญมาก คือ “รายได้ของธุรกิจจะมาจากไหน”
  6. Key Resource : อะไรคือทรัพยากรหลักในธุรกิจ
  7. Key Activities : ธุรกิจคุณทำอะไรเป็นหลัก
  8. Key Partners : พาร์ทเนอร์ที่สำคัญในการทำธุรกิจคือใคร
  9. Cost Structure : โครงสร้างของค่าใช้จ่าย และต้นทุนในการดำเนินการเป็นอย่างไร

2. ขายในสิ่งที่ “ลูกค้าต้องการ” ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ


คุณต้องแน่ใจว่าคุณกำลังขายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ เพราะถ้าสินค้าของคุณไม่ได้เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ต่อให้คุณตั้งใจทำขนาดไหนก็ยากที่จะมีคนซื้อ เพราะมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ ให้กับลูกค้าเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าต้องการอะไรจริง ๆ ง่ายที่สุดก็คือ อย่าคิดเองเออเองในห้องประชุมครับ ออกไปคุยกับลูกค้าจริง ๆ ไปเรียนรู้ ไปเข้าใจลูกค้า หาให้เจอครับว่าอะไรที่เป็น Pain Point อะไรที่เขาอยากได้

ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้ที่ Plearn เพลิน by Krungsri GURU ในบทความที่ชื่อว่า “หาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าคุณให้เจอ

เพราะผมเห็นมานักต่อนักแล้วล่ะครับ คนที่ทำธุรกิจตามฝัน ตาม Passion ถ้า Passion ของคุณเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการก็ดีไป แต่ถ้าไม่ใช่แล้วยังไม่มีแผนสำรองก็เตรียมตัวเจ๊ง... ได้เลยครับ

จริงอยู่ว่าการทำตาม Passion นั้นเป็นเรื่องที่ดี

“แต่การทำธุรกิจเรื่องของ Passion อย่างเดียวนั้นคงไม่พอ”
 

3. เข้าใจคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม


ทุกวันนี้สิ่งต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณมีร้านอาหารอยู่ในระแวกนั้น ไม่ได้แปลว่าคู่แข่งคุณจะต้องอยู่ในระแวกเดียวกันอย่างเดียวเท่านั้น แต่คู่แข่งของคุณอาจจะมาจากร้านที่อยู่ห่างคุณไปอีกเป็น 10 กิโล เพราะโมเดลมันเปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของ Platform Food Delivery ทำให้มีร้านเกิดใหม่ที่เป็น ghost restaurant (ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน) เกิดขึ้นมากมาย ทำให้คนมีตัวเลือกมากขึ้น

ดังนั้นถ้าตอนนี้คุณทำธุรกิจร้านอาหาร คู่แข่งทางตรงของคุณอาจจะเป็นร้านใกล้ ๆ คุณ แต่คุณแข่งทางอ้อมอาจจะมาจากที่ไหนก็ได้ ดังนั้น วันนี้หากคุณทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ แล้วจะรู้แค่เรื่องการทำร้านอาหารอาจจะไม่พออีกต่อไป แต่ต้องเข้าใจเรื่องของ Digital Marketing ด้วย
 

4. จ้างคนที่ควรจ้าง จ่ายในสิ่งที่ควรจ่าย


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพูดบ่อยมาก ๆ ว่าอย่าพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง การทำธุรกิจเราไม่สามารถทำคนเดียวทุกอย่างได้คุณต้องมีทีมที่เก่ง ดังนั้นการจ้างคนอื่นมาทำในสิ่งที่คุณไม่ถนัด หรือทำได้ไม่ดีเป็นเรื่องจำเป็น (ถ้าไม่มีเงินจ้าง ก็อาจจะใช้วิธีหาพาร์ทเนอร์ที่เขามีความถนัดในสิ่งที่เราไม่ถนัดก็ได้ครับ)

ประเด็นนี้ Ben Walker ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Transcription Outsourcing เคยให้คำแนะนำที่น่าสนใจและผมก็คิดว่ามันจริงมาก ๆ โดย Ben Walker บอกไว้ว่าอย่างนี้ครับ

“คำแนะนำอย่างแรกที่เขาอยากแนะนำให้เจ้าของธุรกิจทำ คือ การหาโค้ชดี ๆ สักคน จ้างบริษัทที่ปรึกษาดี ๆ สักที่ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนคนหนึ่งจะจัดการได้ทุกแง่มุมของบริษัท แม้ว่าคุณจะเก่งมากแค่ไหนก็ตาม”

และสุดท้ายเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องของระบบ หรือ System ต่าง ๆ ด้วย อะไรที่มันสามารถช่วยให้เรารันธุรกิจได้ง่ายขึ้น เราควรที่จะจ่ายกับสิ่งนั้น แน่นอนเราต้องศึกษาให้ดีด้วยนะครับ เพราะหลายครั้งกลายเป็นว่า “ระบบที่ซื้อมานอกจากจะไม่ช่วยให้คนทำงาน ทำงานได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นภาระและเพิ่มงานที่ไม่จำเป็นให้กับทีมของคุณอีกต่างหาก”
 

5. เรื่องเงินเรื่องใหญ่


เรื่องเงินอันนี้เรื่องใหญ่ เพราะคนทำธุรกิจต้องสามารถอธิบายที่มาที่ไป ครบทุกมิติ และชัดเจน ไม่คลุมเครือ

ไล่ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำธุรกิจ แหล่งเงินทุนของเราจะมาจากไหน จำนวนเท่าไหร่ ต้นทุนของเงินคือเท่าไหร่ (ดอกเบี้ย)

หลังจากเริ่มธุรกิจไปแล้ว ก็ควรจะต้องประเมินต่อว่าถ้าเกิด scenario ต่าง ๆ เราจะรับมือหรือบริการจัดการเรื่องเงินอย่างไรต่อ Best, worst and average case scenario

  • Best Case Scenario | สถานการณ์ของธุรกิจออกมาดีมาก ๆ : อันนี้คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นล่ะครับ สิ่งที่เราต้องคิดต่อถ้าเกิด Best Case Scenario คือจะต่อยอดอย่างไร แหล่งเงินที่จะใช้มาหมุนเวียน หรือลงทุนเพิ่มจะมาจากที่ไหน เป็นกำไรที่เกิดขึ้น หรือกู้จากแหล่งไหน
  • Worst Case Scenario | สถานการณ์ของธุรกิจออกมาแย่! : อันนี้หนักใจสุด ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่ประเมิน หรือวางแผนไว้เลย และส่วนใหญ่มันมักจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วยน่ะสิครับ เราจะต้องทำอย่างไร เราได้คิดไว้หรือยังว่าถ้าธุรกิจขายไม่ได้ตามเป้า หรือขาดทุน เราจะเติมเงินเข้าไปเพิ่มเท่าไหร่ แล้วจะเอาเงินจากไหนเติม ถ้าเติมจะเติมไปถึงเมื่อไหร่ หรือถ้าหาแหล่งเงินทุนไม่ได้จะรับมืออย่างไร
  • Average Case Scenario | สถานการณ์ปกติ : อันนี้ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดี เพราะเป็นไปตามแผนที่วางไว้


และ 5 ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราจะต้องคิดและคำนึงถึงให้มาก ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ

ขอให้โชคดีกับธุรกิจใหม่ครับ ^^

SOURCE : www.krungsri.com