เมกะโปรเจกต์ ภาครัฐฯ มูลค่า 1.947 ล้านล้านบาท หนุน EEC คึกคัก โดยอีก 5 ปี ต้องการวิศวกรเข้าร่วมงานกว่า 5 แสนคน

        การลงทุนในโครงการ Mega Project ของรัฐบาล ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในระยะเร่งด่วน 8 ปี (ปี 2558 - 2565) จำนวน 44 โครงการ วงเงิน 1.947 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านการขนส่งทางถนน ระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการด้านระบบราง อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 993 กม. ในเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, โครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 252 กม., โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 เส้นทาง สายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน -นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ,โครงการลงทุนขนาดยักษ์รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา รวมถึงการลงทุนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั่วกรุงเทพฯ

          ที่ขณะนี้มี  29 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1.2 ล้านล้านบาท ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 17 โครงการ มูลค่ารวม 782,329 ล้านบาท และมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 12 โครงการ เป็นวงเงิน 412,739 ล้านบาท  โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดและผลักดันโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ให้เป็นไปตามแผนการลงทุนควบคู่กับ นโยบาย  "Thai First : ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน"  โดยส่งเสริมให้วิศวกรและช่างเทคนิคชาวไทยเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนที่บริษัทไทยสามารถผลิตได้เข้ามาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง การผลิตจากประเทศไทยแทนการนำเข้า เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอด สามารถให้คนไทยดำเนินการได้เองในอนาคต ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา

แน่นอนว่าการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งจะช่วยเสริมศักยภาพให้ไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี   ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ 2 กลุ่มคือจีนและญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในจีนสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อหนีจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่เริ่มมองหาพื้นที่ลงทุนแห่งใหม่ เพื่อหนีผลกระทบจากสงครามการค้า โดยให้น้ำหนักกับ 2 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนคือ ไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

         

         นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ สำนักงานอีอีซี ให้ความเห็นว่า โครงการลงทุนในอีอีซี มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องการบุคลากรเพื่อรองรับการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มวิศวกร ที่คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการวิศวกร รวม 475,674 อัตราเลยทีเดียว ซึ่งการลงทุนใน EEC Project List ทั้ง 5 โครงการที่คาดว่าจะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนในช่วงครึ่งปีหลัง คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ส่วนอีก 4 โครงการจะทยอยเซ็นสัญญาในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 652,559 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP คือการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งรัฐบาลลงทุน 32% หรือ ประมาณ 209,916 ล้านบาท อีก 68% หรือ 442,643 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน ขณะที่ผลตอบแทนมีการระบุตัวเลขชัดเจนว่าทั้ง 5 โครงการ จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 819,662 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนทางการเงินตลอดระยะเวลาโครงการ 50 ปี 446,960 ล้านบาท รวมวงเงินที่ได้ผลตอบแทนทั้งหมด 1,266,622 ล้านบาท ดังนั้นความสำคัญของการพัฒนาไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมวิศวกรรุ่นใหม่ให้มีทักษะความรู้ที่สอดคล้องและเพียงพอสอดรับกับตลาดแรงงานในอีอีซีที่จะเกิดขึ้น  แม้ว่าปัจจุบันยังติดปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากความไม่ชัดเจนที่ภาครัฐจะให้โอกาสวิศวกรไทยเข้ามาทำงานส่วนไหน และต้องการอะไรบ้าง

 

       

       

          ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ  พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมทั้งขั้นตอนการออกแบบการก่อสร้างและการผลิตให้กับวิศวกรไทย ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนำเข้าสิ่งก่อสร้างจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาวิศวกรในฐานะตัวแทนวิศวกรไทยต้องการให้ภาครัฐฯ เปิดโอกาสให้วิศวกรไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานกับวิศวกรต่างประเทศที่เข้ามาพร้อมกับโครงการลงทุน โดยเฉพาะต้องการให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนไทยได้เรียนและสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งรูปแบบลักษณะนี้ประเทศจีนเคยใช้มาแล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะวิศวกรที่อยู่ในตลาดแรงงานปัจจุบัน ให้มีทักษะและความรู้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย โดยสภาวิศวกรทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพจะต้องมีการปรับมาตรฐานการออกใบรับรองวิศวกรให้ครอบคลุมเปิดกว้างเพียงพอกับสาขาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีด้วย

แสดงให้เห็นว่าโครงการในระยะแรกนี้ก็น่าจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะได้ใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เพราะอย่างที่หลายคนทราบ ประเทศไทยเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะจากจีนลงใต้ไปถึงอินโดนีเซีย หรือจากเวียดนามข้ามฝั่งไปเมียนมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นเรียบร้อย EEC จะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจใหม่ ได้มีโอกาสสร้างธุรกิจ หรือบริการที่จะรองรับเมืองใหม่ และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น พร้อมทำให้การเดินทางและขนส่งภายในประเทศมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีการเชื่อมต่อทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น