ปัญหาหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงต้องเผชิญคือเรื่องของการบริหารความต่อเนื่อง การจัดการความเสี่ยง และการยกระดับระบบการซ่อมแซมและการบำรุงรักษา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของสถานประกอบการและระบบการผลิต ซึ่งกระบวนการผลิตของโรงงานในปัจจุบันยังคงมีความสูญเสียต่างด้านต่าง ๆ อยูในระดับที่สูง เป็นเหตุให้ประสิทธิภาพของกระบวนการดังกล่าวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งพบว่ามีทั้งใช้เวลานานและหลากหลายขั้นตอนในการผลิต ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตที่มากเกินไป (Overproduction) ใช้ต้นทุนในการผลิตและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาด้วยมูลค่าที่สูง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องมีแนวคิดหรือแนวทางเพื่อลดการเสียโอกาสเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคที่เกี่ยวข้องก้าวสู่ยุค 4.0 และสอดคล้องกับทิศทางของอุตสาหกรรมโลกอย่างเต็มรูปแบบ

         

        นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการบริหารความต่อเนื่อง การจัดการความเสี่ยง และการยกระดับระบบการซ่อมแซมและการบำรุงรักษา กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จับมือร่วมกับ กระทรวงคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น และบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด จัดงาน Maintenance & Resilience 2019 หรือ MRA 2019 ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้การยอมรับ และถูกจัดมาอย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วเกือบ 60 ปี โดยงานในครั้งนี้จะเป็นตัวกลางที่ทำให้สถานประกอบการในประเทศไทยมีการปรับตัวได้ดีเช่นเดียวกับสถานประกอบการในประเทศญี่ปุ่นที่มีศักยภาพทั้งการบำรุงรักษาระบบเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานในเวลาที่ยาวนาน การนำระบบอัตโนมัติ เช่น เซ็นเซอร์ IoT หุ่นยนต์ บิ๊กดาต้า มาใช้ในการผลิตและการดำเนินงาน การมีระบบประเมิน และคาดการณ์เพื่อการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูสถานประกอบการในกรณีเกิดพิบัติภัยให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

       นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ทั้งการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและระดับหัวเมือง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้  การจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการก่อสร้างทางหลวง อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งภาครัฐและเอกชนที่กำลังพัฒนาเรื่องดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีแผนการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีและสมบูรณ์แบบ สามารถรองรับกับความเสี่ยงและพิบัติภัยประเภทต่างๆให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาคโครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคมไทยควรศึกษาและมองต้นแบบความสำเร็จจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องความสมบูรณ์แบบของระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยงาน MRA 2019 จะช่วยให้รู้ว่าญี่ปุ่นมีวิธีการจัดการอย่างไรกับระบบขนส่ง ถนน อุโมงค์ สะพาน รถไฟ ฯลฯ ที่มีการใช้งานมากว่า 50 ปี แต่ยังมีความคงทน ฟื้นฟูได้รวดเร็ว และสามารถรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ญี่ปุ่นต้องประสบมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการให้ความรู้จากหน่วยงานที่หลากหลาย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีที่จะได้ศึกษาและเรียนรู้เทคนิคที่ดีจากประเทศชั้นนำของโลก

       นายมาซามิ นากามูระ ประธานบริษัท Japan Management Association กล่าวว่า การแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม และภาคโครงสร้างพื้นฐานกว่า 200 ชิ้นงาน เช่น หุ่นยนต์เพื่อการผลิตในโรงงาน ระบบ IoT ที่ใช้ในสถานประกอบการ ระบบเตือนภัย และปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ โดยยังมีการให้ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะมาร่วมส่งมอบประสบการณ์และเทคนิคที่สำคัญ อาทิ ยุทธศาสตร์การผลิตอัจฉริยะของภาครัฐ การยกระดับการจัดการโรงงานเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น บทบาทของมหาวิทยาลัยในการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย รวมถึงกรณีศึกษาจากเมืองเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจ