ถือเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองและอยู่ในความสนใจอย่างมากสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท หลังจากที่รัฐบาลได้ขีดเส้นตายว่าภายในวันที่15 ต.ค.2562 นี้จะต้องลงนามอย่างถูกต้อง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 

    โดยจุดประสงค์สำคัญที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดให้เกิดการลงนาม สืบเนื่องมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งเป็นถือว่าเป็น 1 ใน 5 โครงการไฮไลต์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน 

    ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ในรูปแบบสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้สิทธิ์เอกชนประกอบกิจการบนพื้นที่จำนวน 200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ถือว่าเป็นโครงการแรกในเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่ได้ลงนามไปแล้ว และหลังจากนี้ถ้าไม่มีการผิดพลาด โครงการที่ 2 ก็น่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 

ไฮสปีดอีอีซีสร้างเชื่อมั่นลงทุน

    ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงมีความกังวลอย่างมาก   เพราะการตอกเสาเข็มเสาแรกของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นการเริ่มต้นโครงการอีอีซีอย่างแท้จริง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ถึงความพร้อมของประเทศที่จะรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น 

    อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ขณะนี้มีความล่าช้ามากแล้ว แม้ว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต้เดือน พ.ค.2562 ที่ผ่านมา แต่ด้วยการเจรจาต่อรองกับกลุ่มซีพีที่ชนะการประมูลกับยืดเยื้อไม่สรุปกันเสียที ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาการเวนคืนที่ดินที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะที่เป็นเจ้าของโครงการไม่สามารถส่งมอบให้กับเอกชนได้ 100% 

    "รัฐบาลอยากให้เรื่องนี้สำเร็จ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ แต่ทุกเรื่องที่อยู่ในอีอีซี  เพราะจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความมั่นใจได้ ถ้าบริษัทที่หนึ่งไม่ได้ ก็ยังมีบริษัทที่สองอยู่ แต่เรายังคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะไปถึงบริษัทที่สอง น่าจะจบได้ ทุกอย่าง เจรจากันครบถ้วนหมดแล้ว หากเปรียบเทียบดูในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะมีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะมีโครงการอีอีซีนี่แหละ เพราะฉะนั้นถือเป็นผลงานของนายกฯ” นายศักดิ์สยามกล่าว
    
พร้อมส่งมอบที่ดิน

    ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มซีพีกังวลหลักๆ คือ แหล่งเงินกู้ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และปัญหาการส่งมอบพื้นที่ที่เอกชนมองว่าแผนส่งมอบยังไม่ชัดเจน ตามแผนจะใช้เวลาเคลียร์ให้เสร็จ 2-3 ปี ทั้งที่ดินบุกรุก เวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภค ทั้งนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติจะต้องเร่งให้เซ็นสัญญาวันที่ 15 ต.ค.ก่อน ส่วนการเริ่มงานก็ให้เวลา 2 ปี เพราะการรถไฟฯ ต้องเคลียร์การส่งมอบพื้นที่ ส่วนซีพีต้องใช้เวลาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างอีก 

    ทั้งนี้ โครงการจะใช้พื้นที่ก่อสร้าง 3,571 ไร่ รวมเวนคืนอีก 850 ไร่ เป็น 4,421 ไร่ พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ คิดเป็น 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ยังมีพื้นที่อุปสรรค 2 ส่วน คือ ที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุก 513 ราย พื้นที่เช่า 83 สัญญา 210 ไร่ ส่วนสถานีมักกะสันส่งมอบได้ 100 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ ยังมีรื้อย้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ บริเวณคลองแห้งและโค้ง ถ.พระราม 6, ท่อน้ำมัน บจ.ท่อส่งปิโตรเลียมไทย (แทปไลน์) ช่วงลาดกระบังมุ่งหน้าอู่ตะเภา, ท่อก๊าซ ปตท.หน้าวัดเสมียนนารี-สนามบินดอนเมือง 11 กม., ท่อระบายน้ำ กทม.บริเวณสามเสน



    "มั่นใจจะสามารถส่งมอบที่ดิน 72% และที่ยังติดปัญหาได้ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการ ส่วนพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ 12 แปลง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 400 ไร่ จำนวน 1 แปลง เพื่อก่อสร้างสถานีและอู่ซ่อม พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวน คืนที่ดิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาประเมินว่าอีกไม่นานน่าจะประกาศใช้" นายวรวุฒิกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ในด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในด้านการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบินนั้น กระทรวงพลังงานจะหารือร่วมกับ รฟท., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. เพื่อหารือแนวทางรายละเอียดการดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวาง ในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน 

    ทั้งนี้ ในส่วนของที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน เบื้องต้นพบว่าสิ่งกีดขวางที่ต้องทำการรื้อถอน อาทิ สายส่งไฟฟ้า เสาไฟฟ้า ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซธรรมชาติ โดยจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาส่วนงานที่รับผิดชอบเพื่อมาตกลงกันว่า การรื้อถอนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มีวงเงินเท่าไร ใช้เวลานานแค่ไหน โดยจะนำข้อสรุปเสนอต่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะเรียกประชุมเรื่องนี้ในสัปดาห์

    “กระทรวงพลังงานได้รับมอบหมายจาก กพอ.ให้ดำเนินการตรวจสอบสิ่งกีดขวางที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ภายใน 1 ปี ซึ่งการประชุมวันที่ 3 ตุลาคม ต้องมาดูว่าเส้นทางการก่อสร้างของโครงการไฮสปีดเทรนผ่านพื้นที่ไหน กระทบกับโครงสร้างอะไรบ้าง การเคลื่อนย้ายเปลี่ยนจุดการวางโครงสร้างใหม่ อาทิ ท่อก๊าซฯ ท่อน้ำมัน เสาไฟฟ้า ต้องย้ายไปพื้นที่ไหน กระทบชุมชนหรือไม่อย่างไร หากกระทบจะดำเนินการช่วยเหลือชุมชนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในจุดไหนบ้าง” นายกุลิศกล่าว
ทำเพื่อชาติ

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ที่กำหนดให้กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูล หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ต้องมาเซ็นรับงานในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ นั้นยืนยันว่าไม่ได้หักกับกลุ่ม CPH แต่เพราะมองถึงอนาคต เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้ว รู้ราคาแน่นอน ทางเอกชน จะได้ไปคุยกับซัพพลายเออร์ได้ งานจะได้เดินหน้าเสียที ยิ่งกว่านั้น กรอบการยื่นราคาไปถึงแค่วันที่ 7 พฤศจิกายน 62 นี้เท่านั้น 

    ทั้งนี้ การดำเนินการให้ CPH มาเซ็นรับงาน มันเป็นการทำเพื่อชาติ เพราะถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซังกันอยู่ จะไปลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะมาลงทุนในโครงการ อีอีซีโครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที ดังนั้นจำเป็นต้องทำ โครงการอื่นที่เกี่ยวกับอีอีซีภาครัฐเดินหน้าเต็มที่ การที่เราออกจดหมายเรียกกลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบไปหมด

    “คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคม กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น มันหมายถึงว่านอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ” นายอนุทินกล่าว.

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net