ต้องยอมรับเลยว่าเรากำลังใช้ชีวิตกันอยู่ใน “สังคมก้มหน้า” หรือสังคมที่ใคร ๆ ต่างก็ก้มหน้ามองจอสมาร์ทโฟนของตนเอง และมีตัวตนอยู่ในอีกโลกเสมือนจริง

บางครั้ง การหมกมุ่นกับโซเชียลมีเดียหรือการเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป อาจทำให้เราเสียสุขภาพทั้งกายและใจไปโดยไม่รู้ตัว ใครรู้ตัวว่าติดโซเชียลหรือติดมือถือขั้นสุด คงต้องมา Social Detox กันหน่อยแล้วล่ะ

เราอาจจะเคยได้ยินหรือรู้กับคำว่า Detox กันมาบ้าง ซึ่งมันก็คือการเอาสารพิษออกจากร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ส่วนการทำ Social Detox หรือ Digital Detox ก็คือการบำบัดอาการเสพติดการใช้โซเชียลมีเดียจนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดความทุกข์ ความเครียด ลามมาถึงสภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงต้องทำการบำบัดอาการเหล่านี้เพื่อให้สภาพจิตใจกลับมาสดใส สดชื่นเหมือนเดิม

Social Media ตัวการทำลายความสุข?

เคยสงสัยไหมว่าบางครั้ง เราก็รู้สึกเหมือนตนเองไม่มีความสุข ทั้ง ๆ ที่ชีวิตตอนนี้ก็ไม่ได้เจอกับเรื่องเศร้าอะไร แต่สาเหตุของความ “ไม่สุข” ในใจเรานั้นมันมาจากไหนกันนะ

บทความจาก Quartz ได้เอ่ยถึงความรู้สึกนี้ว่า การที่คนเราจะรู้สึกมีความสุขหรือรู้สึกพึงพอใจนั้น มาจากการใช้เวลาไปกับสิ่งที่ตนเองชอบ เช่น การใช้เวลาว่างสังสรรค์กับเพื่อน หรือได้ทำงานอดิเรกที่ตนชอบ แต่ ความสุขเหล่านี้อาจลดระดับลง เมื่อมีโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง

เพราะว่า แทนที่เราจะสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจริง ๆ เราอาจมัวแต่ไปคิดว่าจะถ่ายภาพ ถ่ายคลิป หรือบันทึกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อนำไปแชร์ให้คนในโซเชียลมีเดียรับรู้ หากไม่มีภาพหรือคลิปที่เป็นสิ่งยืนยันว่าได้มายังที่แห่งนี้เพื่อมาทำสิ่งนี้จริง ๆ อาจทำให้บางคนรู้สึกกังวลไปเลย

บทความนี้ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าหลายสิ่งกำลังถูกขับเคลื่อนโดยโซเชียลมีเดีย มันจึงเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และสภาพจิตใจของคนเรานั่นเอง ยิ่งคนเราเสพติดกับการมีตัวตนในสังคมออนไลน์มากเท่าใด ตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริงก็อาจถูกกลืนกินเข้าไปมากเท่านั้น

  • ปวดเมื่อยฝ่ามือ คอ ไหล่

มือ เป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนักเมื่อเราเล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน รวมถึงคอ ที่อาจเผลอก้มหน้ามองจอจนปวดเมื่อย หากมีอาการปวดเมื่อยบริเวณมือ คอ และไหล่ ก็เป็นสัญญาณว่าควรวางมือถือแล้วออกมาเดินยืดเส้นยืดสายบ้างได้แล้วนะ

  • ปวดตา แสบตา

แสงบนหน้าจอแสดงผลของสมาร์ทโฟน เป็นแสงสีฟ้าที่มีส่วนทำลายจอประสาทตาให้เสื่อมสภาพลง และยังทำให้ตาของเราแห้งเนื่องจากการเพ่งมองจอมากเกินไป พยายามอย่าจ้องมองจอติดต่อกันเป็นเวลานาน และพักสายตาด้วยการละจากจอออกมามองสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวบ้าง

  • กระวนกระวายเมื่อไม่ได้เล่น

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถเล่นโซเชียลมีเดียได้ตามปกติ เช่น เครือข่ายล่ม, มือถือพัง, แบตหมด หรือมีงานด่วนที่ทำให้ไม่สามารถหยิบมือถือขึ้นมาเล่นได้ แล้วรู้สึกกระวนกระวาย และหงุดหงิด ก็เป็นสัญญาณที่บอกได้ว่าเรากำลังเสพติดมันอย่างหนัก

  • นึกถึงแต่เรื่องในโซเชียลมีเดีย

ถึงแม้ว่าจะเรียนหรือทำงานอยู่ แต่ในใจก็ยังนึกถึงเรื่องราวในโซเชียลมีเดียว่าวันนี้จะโพสอะไร จะอัปโหลดรูปภาพแบบไหน จะแชร์เพลงอะไรให้ได้รับความสนใจ แบบนี้ไม่เวิร์กแน่ ๆ

  • เปรียบเทียบชีวิต

สิ่งที่มักจะพบเห็นในโซเชียลมีเดียก็คือการแชร์โพส อัปเดตไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ คนในโซเชียลมีเดียดูมีชีวิตที่ดีจังเลย โดยเฉพาะเพื่อน ๆ ของเราที่ใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่แพง ทำไมชีวิตเราถึงไม่เป็นอย่างนั้นบ้าง และเริ่มขาดความมั่นใจเพราะเอาชีวิตตนเองไปเปรียบเทียบกับภาพที่เห็นในสังคมออนไลน์ จนคิดว่าตนเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น ในทางกลับกัน หากได้รับยอดไลก์เยอะ ๆ ก็อาจทำให้เรากลายเป็นคนหลงตัวเองมากขึ้น และสูญเสียความมั่นใจเมื่อยอดไลก์ลดน้อยลง

  • ปรับมุมมองที่มีต่อโซเชียลมีเดีย

จริง ๆ แล้ว โซเชียลมีเดียถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากหากใช้ให้ถูกวิธี หลาย ๆ คนได้ติดต่อพูดคุยกับคนที่อยู่ห่างไกล หรือได้พบกับคนที่ไม่ได้เจอหน้ากันเป็นเวลานาน ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เรียกว่าเป็นการเชื่อมโยงคนที่อยู่ห่างไกลกันให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่โซเชียลมีเดียนั้นไม่ใช่โลกทั้งใบของเรา การที่คนในโซเชียลเห็นด้วยกับเรา ไม่ได้แปลว่านั่นคือเสียงส่วนใหญ่ และความเห็นจากคนในโซเชียลมีเดียก็เป็นเพียงแค่ความเห็นหนึ่งที่เราไม่ต้องเก็บมาคิดมากให้กังวลใจ

  • ลบแอปฯ / จัดเวลาเล่น

หากโซเชียลมีเดียเริ่มมีผลต่อสภาพจิตใจมากเกินไปหรือรู้สึกว่ากำลังเสพติดโซเชียลขั้นสุด แนะนำให้ลองปรับตัวเองใหม่ ด้วยการลบแอปฯ โซเชียลทิ้งไปก่อน โดยอาจจะลบแค่ 1 แอปฯ ที่เข้าบ่อยที่สุด และตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่เล่นอีกกี่สัปดาห์หรือกี่เดือน เมื่อครบกำหนดก็เปลี่ยนมาลบแอปฯ อันใหม่

หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าการลบแอปฯ มันหักดิบเกินไป ก็ลองปรับเวลาในการเข้าใช้โซเชียลมีเดียให้สั้นลง หรือกำหนดเวลาให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย เช่น วันจันทร์ เล่น Facebook ได้ 1 ชั่วโมงเท่านั้น, วันเสาร์ ไม่เล่นทวิตเตอร์ หลัง 3 ทุ่ม อะไรแบบนี้ ก็ลองกำหนดเวลาดู แล้วจะรู้เลยว่าก่อนทำ Social Detox เราเสียเวลากับการเล่นโซเชียลไปเยอะมาก ๆ โดยเปล่าประโยชน์

  • ตั้งเป้าหมายทำกิจกรรมอื่น

หลายคนเอาแต่เล่นโซเชียลมีเดียเพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรทำ ถึงแม้จะดูจนไม่รู้จะดูอะไรแล้ว แต่ก็ยังไม่วางมือถือ เพราะมันไม่มีอะไรทำไงล่ะ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องลองตั้งเป้าหมายที่จะทำอะไรสักอย่าง นอกจากการปาดจอสมาร์ทโฟน เอาเวลาที่เคยสูญเสียไปกับการติดโซเชียลกลับคืนมา เช่น อ่านหนังสือที่ซื้อมากองไว้, ออกกำลังกาย, หัดทำอาหาร หรือไปเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มทักษะ ก็จะช่วยให้เราได้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์มากขึ้น

  • ใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น

โซเชียลมีเดียช่วยให้คนไกลได้พูดคุยเหมือนอยู่ใกล้กัน แต่ในบางครั้งก็ทำให้เราหลงลืมคนใกล้ตัวไป เพราะมัวแต่ไปสนใจสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ งั้นในระหว่างที่กำลังทำ Social Detox ก็ใช้เวลาตรงนี้ในการออกมาพบปะกับคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง คนรัก หรือสัตว์เลี้ยง แบบที่ได้เจอหน้ากัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในโลกความจริง ไม่ใช่แค่ในโซเชียลมีเดีย จะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด และเข้าใจกันและกันมากขึ้น

นอกเหนือจากการเสพติดสมาร์ทโฟนที่ส่งผลต่อสุขภาพแล้ว การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารขยะ, เดินท่ามกลางฝุ่นควันมากมาย, ไม่ค่อยออกกำลังกาย ฯลฯ ล้วนแต่เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและมีโอกาสเจ็บป่วยมากขึ้น

การใช้โซเชียลมีเดียนั้น มีทั้งคุณและโทษ หากเรารู้จักใช้มันอย่างพอเหมาะ และไม่ยึดเอาสิ่งที่เห็นในโซเชียลมาควบคุมการใช้ชีวิตตามปกติของเรา อย่าลืมว่ามันเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้มันเข้ามาควบคุมเรา หากปล่อยวางบางสิ่งจากโลกโซเชียลได้ เราจะสุขขึ้นเยอะ ????

SOURCE : www.rabbitfinance.com