แม้ภาพรวม ผลประกอบการ ไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2562 ของ เอสซีจี จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ และเงินบาทที่แข็งค่า เพราะมีการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่เอสซีจีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

         

         นาย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “เอสซีจี เน้นจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการลงทุนหลักๆ คือ การซื้อหุ้น Fajar ผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย รวมทั้งการลงทุนธุรกิจเคมิคอลส์ในเวียดนามและไทย ด้วยการพิจารณาว่าโครงการใดเป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพและมีการเติบโตของตลาดค่อนข้างสูงอย่างโครงการลงทุนปิโตรเคมีในเวียดนาม รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์ซึ่งใช้เงินลงทุนต่อหน่วยไม่มากและทำได้เร็ว และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการใช้พลังงานอย่างการลงทุนด้านพลังงานทดแทน เราก็พยายามเร่งรัดโครงการให้สำเร็จโดยเร็ว ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนช้าและใช้เวลานานในการลงทุน เราจะพักไว้ก่อน

       

         ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนา นวัตกรรม อย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจเคมิคอลส์ที่พัฒนาสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนเกรดพิเศษด้วย SMX Technology™ ที่ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์แต่ยังคงความแข็งแรงทนทานได้ดี หรือการพัฒนา Functional Materials อย่าง CIERRA™ ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียวแต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุหลายชนิดซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล

        ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ก็เน้นการรุกตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมูลค่าของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างธุรกิจค้าปลีก เช่น การเปิดศูนย์ “SCG Home บุญถาวร” จำหน่ายสินค้าวัสดุตกแต่งที่เน้นครัวและห้องน้ำ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการส่งมอบโซลูชั่น เช่น ระบบหลังคา เพื่อให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้น

        ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้ง นอกจากการลงทุนใหม่ๆ แล้ว เราก็เห็นโอกาสไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของธุรกิจ E-commerce หรือการเติบโตของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร Fast food ก็เป็นสิ่งที่เราจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ให้มาก เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” ต้องยอมรับว่าแม้การดำเนินธุรกิจของเอสซีจีจะมีความท้าทายค่อนข้างมากจากปัจจัยในระดับโลกหรือในระดับภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันจะเห็นว่าเอสซีจีไม่ทิ้งเรื่องการพัฒนานวัตกรรม และการลงทุนเพื่อตอบโจทย์สินค้าและบริการให้ลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้รักษาเสถียรภาพทางการเงิน ไปพร้อมๆ กับการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ในระยะยาวต่อไป