22 มี.ค. 2562 นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนชันแนล อีเพย์เมนต์) ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ต้องนำส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร ได้แก่ มียอดฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และยอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป หรือมียอดฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปีขึ้นไป

           นอกจากนี้ ยังมี อี-แท็กซ์ อินวอยซ์ และอี-รีซิฟท์ เปิดให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับแบบอิเล็กทรอนิกส์ส่งมาให้กรมสรรพากรได้เอง รวมถึงเปิดให้ผู้จ่ายเงินสามารถเลือกจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านธนาคาร หรือคนกลาง ตลอดจนยังเปิดระบบ อี-ไฟลิ่ง เพิ่มช่องทางการยื่นแบบภาษีออนไลน์ในภาษีทุกประเภท 

           โดยการรายงานข้อมูลผู้มีบัญชีธุรกรรมลักษณะเฉพาะจะครอบคลุมทั้งข้อมูลบัญชีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลทั้งคนไทยและต่างชาติ  ซึ่งสถาบันการเงินต้องเริ่มเก็บข้อมูลบัญชีปี 2562 เพื่อรายงานให้กรมสรรพากรภายในเดือนมี.ค.2563 เป็นต้นไป และปฏิบัติเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยข้อมูลธุรกรรมเฉพาะที่กำหนดจะนับเฉพาะยอดรับโอน-เงินขาเข้าในบัญชีเท่านั้น ไม่รวมการโอนออกหรือถอนออกไป รวมถึงจะนับยอดรวมการโอนของทุกบัญชี ที่มีเจ้าของเปิดบัญชีในธนาคารเดียวกันรวมด้วย

           ทั้งนี้ เมื่อกรมสรรพากรได้รับการรายงานข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะจากสถาบันการเงินแล้ว จะมีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อแยกแยะข้อมูลของผู้เสียภาษีเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เสียภาษีอยู่แล้วและมีความเสี่ยง 2.กลุ่มที่เสียภาษีอยู่แล้วแต่ไม่มีความเสี่ยง 3.กลุ่มที่ไม่เคยเสียภาษีและมีความเสี่ยง และ 4.กลุ่มที่ไม่เคยเสียภาษีแต่ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งจะมีการเรียกเข้ามาพบเพื่อข้อมูลเพิ่ม   โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการรังแกคนค้าขายออนไลน์ หรือใคร เพราะตามกฎหมายหากใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องเสียอยู่แล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net