6 มี.ค. 2562 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย รวมระยะทาง 608 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี

สำหรับโครงการระยะที่ 1 ได้แบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา และขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 2 สัญญาคือ สัญญาที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาคิดเป็นความคืบหน้า 45% สัญญาที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ได้ดำเนินการประกวดราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาการก่อสร้างได้ 6 มีนาคม 62 และเริ่มการก่อสร้างได้ภายในเดือนเมษายน 62


อย่างไรก็ตามส่วนอีก 12 สัญญา ระยะทางประมาณ 239 กิโลเมตร จะประกวดราคาแล้วเสร็จและสามารถลงนามในสัญญาภายในเมษายน 62 และจะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการได้ภายในเดือนมิถุนายน 62 รวมมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 66


ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการพบว่ามีปัญหาด้านระบบการทำงาน มาตรฐานทางเทคนิค ระบบกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจนภาษาและวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศซึ่งมีความแตกต่างกัน อาทิ ด้านงานก่อสร้าง มาตรฐานของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เช่น ปูนซิเมนต์ หิน เหล็ก เป็นมาตรฐานที่ใช้เฉพาะในประเทศจีน ทำให้ต้องมีการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต และทดสอบวัสดุที่ผลิตในประเทศไทยอย่างเข้มงวด


“ในช่วงเดือนพฤษภาคม 61 ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ทั้งสองฝ่ายรับทราบการดำเนินงานช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคาของฝ่ายไทย”นายณัฐพร กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net