Economic Outlook 2019 : เศรษฐกิจไทย ไม่หมูอย่างที่คิด !!!

หลายคำถามที่เกิดขึ้นในปี 2019 ว่าปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในปี2020 หรือไม่ ? เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และเศรษฐกิจจีนเอง ก็ไม่ได้สดใส เห็นจากภาวะชะลอตัวเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทบไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่แผ่วลงตามไปด้วย    

 

สงครามการค้าจะไปต่ออย่างไร ??

ข้อมูลจากนาย พชรพจน์ นันทรามาศ  ผู้อำนวยการอาวุโสสายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ผลกระทบจากสงครามการค้า เพิ่งส่งผลในวงกว้างช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2018 (หลัง ก.ย.18) จากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยสหรัฐ ในอัตราภาษี 10% บนสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เป็นปัจจัยกดดันให้คาดว่าจะกระทบทั้งปี และอาจรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะอัตราภาษีจะถูกปรับขึ้นเป็น 25% ถ้าสหรัฐฯและจีน ไม่สามารถเจรจากันได้ภายในเดือนมีนาคม แต่ในกรณีที่เจรจากันได้ปัญหาจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าจะไม่นำไปสู่ภาวะ recessions หรือภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2563 อย่างแน่นอน

 

ชี้ปี 2019 เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วง Late Cycle Recovery มากกว่าภาวะ Recession

ทั้งนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2019 จะขยายตัวได้ 3.7% และทรงตัวในระดับเดิมในปี 2020  เพราะผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯจะทยอยหมดลง ในปี 2019 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญความเสี่ยงในอนาคต

ซึ่งตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ธ.กรุงไทย คาดว่าในปี2019-2020  เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วง Late Cycle Recovery คือช่วงปลายของการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วง 10 ปีก่อน ซึ่งนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในสหรัฐฯและยูโรโซนกำลังจะหมดลง ทำให้เศรษฐกิจจะไม่โตแบบเร่งตัวเหนือศักยภาพในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนมากขึ้น

 

จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนกระทบไทยโดยตรง

แต่สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ ภาวะเศรษฐกิจจีน ที่อาจมีผลกระทบกับไทยมากกว่า เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1ของไทย คิดเป็น 12% ของตลาดส่งออกทั้งหมด และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 28% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง 2018 ทั้งการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สัญญาณหลายอย่างบอกว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2018 เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ในจีน ลดลงกว่า 11.7% ในเดือนตุลาคม เพราะผู้บริโภคชาวจีนตัดสินใจเลื่อนการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยออกไป ขณะที่ภาคการผลิตก็ชะลอตัวลง โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ (New Export Order) เป็นผลมาจากสหรัฐฯเริ่มเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์  ซึ่งคาดว่าภาคการผลิตจีนจะชะลอตัวถึงไตรมาส 1 เป็นอย่างต่ำ

ทั้งนี้คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง,อัญมณี  รวมถึงยอดส่งออกสินค้า ในกลุ่มยานยนต์,สินค้าเกี่ยวกับกีฬาและเครื่องสำอาง ที่อาจลดลงเช่นกัน

 

ภาวะเศรษฐกิจไทย ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 4.1% จากเดิมคาดว่าจะโตที่4.3% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง  โดยกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะมาจากการลงทุนของภาครัฐ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.2 และการลงทุนเอกชนที่จะขยายตัวได้ 5.5% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวอยู่ที่ 4.3% เท่ากับปีที่ผ่านมา 

ส่วนการส่งออกไทยปีนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์มาอยู่ที่ 4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 7-8% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5% โดยจะต้องจับตานักท่องเที่ยวจีนอย่างใกล้ชิดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี2562 ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ได้ประมาณการณ์จีดีพี อยู่บนสมุติฐานว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี จะส่งผลให้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามเป้าหมาย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการ สายงานGlobal Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย  คาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ในช่วงครึ่งปีหลังมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2019 หลังจากที่คงระดับ 1.5% มาเป็นเวลาเกือบ 4 ปี

ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยมาแตะระดับ 2% ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ในปีนี้  ทั้งนี้ในระยะยาวคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. จะขึ้นไปแตะระดับ 3% ในปี 2020-2021 แต่ก็ไม่น่ากังวลเพราะใน Cycle นี้ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอดีตมาก จาก Cycle การขึ้นดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี 2004-2021

**ทั้งนี้จากการศึกษาของ ธปท. พบว่า หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนไป 1% อัตราดอกเบี้ย MLR จะเปลี่ยนไป 0.33-0.48% โดยเฉลี่ย**

Cycle การขึ้นดอกเบี้ย

จุดเริ่มต้น

1 ปีผ่านไป

สิ้นสุด Cycle

เงินเฟ้อสูงสุด

ใน Cycle

2004-2006

1.25%

2.75%

5.00%

4.70%

2010-2011

1.25%

3.00%

3.50%

3.80%

2018-2021

1.50%

2.00%

3.00%

2.00%

ที่มา: ข้อมูลจาก ธปท.

 

อสังหาฯจับตาความเสี่ยง เมื่อเจอมาตรการ LTV ของ ธปท.

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ที่มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2562 โดยกำหนดเพดานของสินเชื่อที่สามารถกู้ได้ต่อมูลค่าที่เป็นหลักประกัน ไม่ให้เกิน 100% หรือที่เรียกว่า Loan-to-Value Limit (LTV) ซึ่งผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 เป็นต้นไปหรือ ซื้อมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท จะกู้ได้ลดลง และต้องผ่อนดาวน์ตามเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด                            

ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

สัญญาแรก

สัญญาที่ 2

·       ผ่อนมากกว่า 3 ปี

·       ผ่อนน้อยกว่า 3 ปี

สัญญาที่ 3 ขึ้นไป

 

100 %

 

90%

80%

70%

10 ล้านบาทขึ้นไป

สัญญา 1-2

สัญญาที่ 3 ขึ้นไป

 

80%

70%

ที่มา: ข้อมูลจาก ธปท.

 

โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะเป็นกลไกดูดซับสินเชื่อส่วนเกินของภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้ประมาณ 9% และควบคุมสินเชื่อเกิดใหม่ได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

โดยคาดการณ์ว่า ม.LTV จะกระทบผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย 3 แบบ คือ

กรณี

การตอบสนองของผู้ซื้อ

ลักษณะของผู้ซื้อ

ผลกระทบตลาดอสังหาฯ

1

กู้ซื้อเหมือนเดิม ในราคาเดิม

พร้อมซื้อ ไม่มีปัญหาทางการเงิน

·       ไม่กระทบยูนิตที่ขายได้

·       ไม่กระทบราคาบ้าน

·       ยอดสินเชื่อใหม่ลดลง 4% มูลค่า 13,243 ล้านบาท

2

กู้ซื้อเหมือนเดิม ในราคาลดลง

มีความจำเป็นต้องซื้อ

·       ไม่กระทบยูนิตที่ขายได้

·       ราคาบ้านลดลง

·       ยอดสินเชื่อใหม่ลดลง 9% มูลค่า 26,390 ล้านบาท

3

ชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน

ไม่มีความพร้อมด้านการเงิน/ซื้อเพื่อลงทุน

·       ยูนิตที่ขายได้ลดลง

·       ราคาบ้านลดลง

ยอดสินเชื่อใหม่ลดลง 22% มูลค่า 65,733 ล้านบาท

ที่มา: ข้อมูลจาก ธปท.

 

อย่างไรก็ดีเพื่อป้องกันผลกระทบผู้ประกอบการควรกระจายกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เช่น ผู้ที่ซื้อบ้านสัญญาแรก รวมถึงสร้างการเติบโตในตลาดใหม่ เพิ่มสัดส่วนธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า กระจายธุรกิจสู่นิคมอุตสาหกรรม ให้มากขึ้น