หมู ไม่หมู !! : จับกระแสแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2562

 

        สวัสดีปีใหม่ ปี 2562 แต่หลายคนยังกังวลว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในทิศทางไหน จะหมูเหมือนอย่างที่คิดไว้หรือไม่ ลองมาอ่านบทวิเคราะห์จากเหล่ากูรูทางด้านสายการเงิน ที่ออกมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้อย่างหลายแง่มุม รวมถึงแนวทางการปรับตัวตั้งรับภาวะสงครามการค้าที่จะส่งผลต่อการส่งออก กระทบกับภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ของไทย

 

 

กสิกรไทย คาดจีดีพี ปี 62 โต 4% ชี้ยอดโอนอสังหาฯหดตัวถึง 7.6%

 

        ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า เศรษฐกิจในปีหมู (ปี 2562) คิดว่าคงไม่หมูเท่าใดนัก เพราะประเด็น “สงครามการค้าโลก” โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาที่กำหนด จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระทบตัวเลขส่งออกไทยในปีหน้า อยู่ที่ราว 4.5% เทียบกับ 7.7% ในปี 2561  กระทบต่อมูลค่าการของไทย ราว 3.1 พันล้านดอลลาร์

 

        ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ  4.0% ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหนุนจากการลงทุนมาช่วยเสริม เพื่อให้สามารถชดเชยโมเมนตัมของภาคต่างประเทศที่ผ่อนแรงลงได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ หากเป็นไปอย่างราบรื่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและลงทุนของประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญไปจนถึงครึ่งปีหลัง

 

        ในปี 2562 ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยติดตามที่สำคัญ โดยการปรับดอกเบี้ยแบงก์ในช่วงครึ่งปีแรก คงเน้นไปที่อัตราเงินฝากประจำพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป เพราะสภาพคล่องยังมีอยู่มาก

 

         ด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารไทยและต่างชาติ มีโอกาสแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงระหว่างปี 2562 ก่อนที่จะมาแตะระดับราวร้อยละ 2.98 ณ สิ้นปี 2562 จากร้อยละ 2.91 ณ สิ้นปี 2561 เพราะ NPLs มักปรับตัวตามเศรษฐกิจราว 6 เดือน โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและบ้าน ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

 

        ส่วนแนวโน้มธุรกิจในปีหน้า กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ โรงพยาบาลเอกชน และก่อสร้างภาครัฐ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซอาจมีผลต่อฝั่งผู้ขาย แต่โดยรวมธุรกรรมออนไลน์น่าจะยังเติบโตสูงตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

 

        ขณะที่ธุรกิจที่คงเห็นการชะลอตัวในปีหน้า ได้แก่ เกษตร รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจอสังหาฯ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท. และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงคาดว่ายอดโอน อสังหาฯในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะหดตัว 7.6% - 3.6% จากที่คาดว่า จะเติบโต 14.1% 

 

CIMB THAI เผยปี 62 ปีทองของเศรษฐกิจไทย ชี้เลือกตั้งมีผลต่อความมั่นใจนักลงทุน

 

        นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเร่งตัวขึ้นจากปีนี้ จากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากอ่อนแอมาหลายปี จากความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากเสถียรภาพทางการเมือง โดยปี 2562 คาดว่าจะเป็นปีทองของเศรษฐกิจไทย เพราะหลังเกิดการเลือกตั้ง ประชาชนจะกลับมาใช้จ่าย ลงทุน และบริโภค รัฐบาลชุดถัดไปของ คสช. นับว่าเป็นรัฐบาลที่โชคดี เพราะสิ่งที่คสช.ได้ทำและเดินหน้ามาแล้วนั้นเริ่มจะเห็นผล และจะขับเคลื่อนได้ในปีถัดไป

 

        อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไขต่อไป เช่น การขาดแคลนแรงงานมีทักษะ, การเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนที่เป็นประเทศรายได้สูง และการมีกฎระเบียบและข้อจำกัดในการลงทุนอันบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของเอกชน เป็นต้น ดังนั้นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจยังไม่จบแม้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

 

 

กรุงศรีฯ คาดทิศทางตลาดเงินในปี 62 ยังผันผวน

 

        นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยถึงทิศทางตลาดเงินในปี 62 และปัจจัยท้าทายว่า ภาพรวมของตลาดเงินยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก


        โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 62 มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้น ประเมินกรอบเคลื่อนไหวในไตรมาส 1/62 จะอยู่ที่ 31.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ จากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลง โดยคาดจะปรับขึ้นในปีนี้อีก 1 ครั้ง และในปีหน้าอีก 3 ครั้ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงปลายวัฎจักรของการเติบโต ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกราวปลายปี 62 และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป


        สำหรับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะเติบโตช้าลง โดยคาด GDP จะเติบโตราว 4.1% เป็นไปตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกจะเติบโต 4.5% จากปีนี้คาดว่าจะเติบโต 7.8% ส่วนภาคการท่องเที่ยว คาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมองแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากกิจกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเข้ามาช่วยหนุนเศรษฐกิจ และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ

 

 

TMB แนะผู้ประกอบการเตรียมรับมือกับ 4 ปัจจัยเสี่ยง

 

        นาย นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะเติบโต 3.8% โดยมีปัจจัยภายในเป็นแรงขับเคลื่อน อาทิ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งรายได้ภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นในทุกสินค้า รวมถึงสัญญาณการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐในครึ่งหลังปี 62 โดยเฉพาะ EEC ที่จะเกิดขึ้นได้ภายใต้ พ.ร.บ. EEC เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนของภาคเอกชนคาดเริ่มเห็นการลงทุนของอุตสาหกรรม S-Curve ที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI ในปี 59-60 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

        ทั้งนี้แม้สัญญาณบางอย่างจะดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการก็ควรเตรียมรับมือกับ 4 ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ เงินบาทผันผวน เศรษฐกิจโลกชะลอ การท่องเที่ยว การย้ายฐานการผลิตจากจีน โดยผู้ประกอบการอาจใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน กระจายตลาดส่งออก โฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ พัฒนาทักษะแรงงานรองรับเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น

 

        และเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนให้กับเอสเอ็มอีไทย ที่มีสัดส่วน 95% ของธุรกิจในประเทศไทย และมีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด แต่ 83% ของเอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ล้านราย ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้าและเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ธนาคารทหารไทย (TMB) ได้ออกพันธบัตรเอสเอ็มอีมูลค่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) หนึ่งในสมาชิกของเวิลด์แบงก์กรุ๊ปเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อนำเงินที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือมียอดขายอยู่ที่ระดับ 1-500 ล้านบาท/ปี เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนให้กับเอสเอ็มอีไทย