ในการกินผักให้เกิดประโยชน์นั้น เราจะต้องคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย ก่อนที่จะนำผักมาปรุงอาหาร กล่าวคือ ปราศจากพิษภัยที่อาจจะพบได้ในผักดังต่อไปนี้ คือ

1. เชื้อแบคทีเรีย ปัญหาที่เชื้อแบคทีเรียหรือตัวเชื้อโรคปนเปื้อนลงในผักนั้น อาจเกิดมาจากขั้นตอการผลิต การขนส่ง การเก็บ การปรุง และการจำหน่าย ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตัวอย่างเช่น การขนส่งผักในบ้านเราทุกวันนี้ ผู้ขนส่งส่วนมากมิได้คำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นับตั้งแต่ภาชนะที่ใช้บรรจุ พาหนะที่ใช้ขนส่งไม่สะอาดเพียงพอ ไม่มีการปกปิด ตลอดจนสุขวิทยาส่วนบุคคลของคนงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อในขณะทำงาน การขาดความสนใจในเรื่องความสะอาดของร่างกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คือ การวางจำหน่ายผักบนพื้นดินที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาจกสภาพต่างๆ เหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในผักได้ทั้งโดยทางตรง หรือผ่านสื่อต่างๆ เช่น ผู้สัมผัส ภาชนะอุปกรณ์ ตัวอาหาร สถานที่ รวมทั้งแมลงและสัตว์นำโรคต่างๆ

2. เชื้อไวรัส ผักที่ล้างไม่สะอาดหรือมีแมลงวันตอม ก็อาจจะพบเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กที่สุดได้ ตัวอย่างเช่น โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) โรคตับอักเสบ เป็นต้น

3. เชื้อรา ผักบางชนิดจัดอยู่ในประเภทอาหารแห้งด้วย เช่น พริก หอม กระเทียม ฯลฯ เมื่อได้รับความชื้นที่พอเหมาะ เชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ดี และสร้างสารพิษที่เรียกว่าอะฟลาทอกซิน ซึ่งไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนขนาดหุงต้มได้ และหากเกิดการสะสมในร่างกายมากๆ ก็จะทำให้เป็นมะเร็งที่ตับได้

4. พยาธิ เกษตรกรที่นิยมใช้อุจจาระสดเป็นปุ๋ยรดผักเพื่อให้ผักเจริญงอกงามดี ถ้าอุจจาระสดนั้นมีไข่พยาธิปะปนอยู่ คนที่บริโภคผักที่ล้างไม่สะอาด หรือปรุงไม่สุก ไข่พยาธิก็จะเจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในลำไส้เล็ก และเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ในที่สุดไข่พยาธิก็จะออกมากับอุจจาระอีก ตัวอย่างเช่น โรคพยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า พยาธิไส้เดือน เป็นต้น

5. ยาฆ่าแมลง ทุกวันนี้เราบริโภคผักกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปของผักสด และผักแปรรูป เช่น ทำเป็นผักดอง ตลอดจนบรรจุเป็นอาหารกระป๋องจำหน่ายเป็นสินค้าออกต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงปราบศัตรูพืชเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนออกสู่ท้องตลาดก่อนถึงกำหนดวันเก็บ เพื่อให้ได้ราคาดีและทันต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากผักส่วนมากมีเนื้อเยื่ออ่อนมาก และมีน้ำอยู่ในลำต้นมากซึ่งน้ำจะถูกระเหยออกทางใบ ดังนั้นพืชผักจึงรับเอาเชื้อโรคพืชต่างๆ และสารพิษยาฆ่าแมลงไว้ในต้นได้ง่าย

การเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนกำหนดวันเก็บ จึงทำให้พบสารพิษฆ่าแมลงตกค้างบนผักเป็นจำนวนมาก จากการตรวจตัวอย่างผักที่วางขายในท้องตลาดโดยสาขาวิจัยวัตถุมีพิษกรมวิชาการเกษตร 120 ตัวอย่างพบสารพิษพวก Organophosporus Compound และ Chlorinated hydrocarbonsตกค้างอยู่ 11.7% และ 82.5% ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ ในบางประเทศจึงได้มีกฏหมายกำหนดค่าปลอดภัยของสารพิษฆ่าแมลงตกค้างบนผักไว้โดยให้ใช้ขนาดที่ถูกต้อง และทิ้งระยะเวลาของการฉีดครั้งสุดท้ายกับการเก็บผักไปขายให้นานพอที่สารพิษฆ่าแมลงตกค้างเหล่านั้นสลายตัวหมด

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th