เสือดาวตัวหนึ่งกำลังเดินอยู่บนกำแพงชุมชน ซึ่งเป็นที่ที่มันไม่ควรมาเดินเพ่นพ่านเช่นนี้ มันเดินอยู่ไม่กี่ย่างก้าวก็ออกแรงวิ่งไปข้างหน้า เพื่อหนีการไล่ล่าจากมนุษย์ เสือดาวตัวนี้กำลังถูกล่าจากเจ้าหน้าที่อินเดียหลายสิบคน เพื่อจับเสือดาวตัวนี้ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่ของมัน
 
          เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถือปืนและเล็งปลายกระบอกไปที่มันหมายมั่นว่าจะยิงยาสลบใส่  แต่ก็พลาดไปหลายนัด เสียงปืนยาสลบทำให้เสือดาวตัวนั้นยิ่งตื่นตัวและตกใจ มันวิ่งไปข้างหน้าเพื่อหวังหนีจากภัยที่ถูกตามล่า และวิ่งย้อนกลับมาเพื่อหาทางหนีอีกครั้งพร้อมกับทำร้ายเจ้าหน้าที่บางรายที่ขวางเส้นทางหนีของมัน จนสุดท้ายเสือดาวตัวนี้ก็ถูกจับกุมได้ในที่สุด
 
          นี่เป็นสารคดีภาพบันทึกจาก Dangerous Animals ที่ผมมีโอกาสได้ดูเมื่อไม่นานนัก นอกจากกรณีเสือดาวดังกล่าวแล้ว ก็มีกรณีของสัตว์ใหญ่และสัตว์เล็กอีกหลายประเภทที่ถูกบันทึกภาพถึงความดุร้ายจนมีภาพที่น่ากลัวและอันตรายต่อคนที่ได้รับชมเป็นอย่างมาก
 
 

          แต่สิ่งหนึ่งที่คนบรรยายได้ให้ข้อมูลหนึ่งเอาไว้และได้ชวนผมคิดต่อนั่นคือ สัตว์เหล่านี้มักจะดุร้ายต่อเมื่อมันรู้ว่าพื้นที่ที่มันอยู่ถูกล่วงล้ำหรือมีบุคคลบุกรุกเข้าไปนั่นเอง สัญชาตญาณการปกป้องพื้นที่หรือรักษาชีวิตจึงเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณที่ธรรมชาติให้มา
 
          อย่างกรณีเสือดาวที่ถูกไล่จับในชุมชนแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียก็เช่นกัน ปัญหาเกิดจากแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรขยายตัวและบางส่วนก็ไปรุกล้ำพื้นที่ของสัตว์ป่าบางประเภทเขา กรณีเช่นเสือดาว จึงเกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนและความสับสนต่อการอยู่อาศัยระหว่างคนและสัตว์ป่า ผลลัพธ์จึงเกิดความวุ่นวายอย่างที่ผมได้เขียนบรรยายให้อ่านกัน
 
          เมื่อพูดถึงพื้นที่หรือขอบเขตการดำรงอยู่ของแต่ละคนนั้น ก็อดนึกถึงคำสอนเกี่ยวกับการทำงานของอดีตหัวหน้าของผมเองไม่ได้ ซึ่งวันนี้ที่เขียนบทความเรื่องนี้อยู่ ก็บังเอิญว่าเป็นวันเกิดของอดีตหัวหน้าผมพอดี จึงรำลึกด้วยการเขียนถึงคำสอนว่าด้วยขอบเขตและสถานะในการทำงานที่ทุกคนควรพกด้วยสติติดไว้กับเนื้อกับตัวทุกครั้ง
 
          อดีตหัวหน้าของผมเป็นคนรักทีมมากๆ เขาเป็นทั้งผู้นำที่คอยกระตุ้นให้ทีมเกิดไฟในการทำงาน และเป็นพี่ชายนอกสนามที่คอยแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดยามสังสรรค์ แถมยังเป็นกุนซือแก่น้องๆ เวลาส่งพวกเราเข้าไปรบในห้องประชุมกับฝ่ายอื่นๆ ได้อย่างแยบยล
 
          เขาเป็นกุนซือที่คอยวางแผนเพื่อให้ทีมไปรอดและให้เราเติบโตอยู่เสมอ เขามักสอนให้พวกเราทบทวนวัตถุประสงค์ของการทำงาน และประเด็นที่ต้องนำกลับมาจากสนามรบเพื่อนำกลับมาต่อยอดและขับเคลื่อนให้งานก้าวไปข้างหน้า เพื่อมีให้เกิดความก้าวหน้าในวงประชุมครั้งต่อๆ ไป
 
          ทว่าสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าเตือนนักเตือนหนาก่อนออกรบคือ การรู้ตำแหน่งหน้าที่และขอบเขตในการทำงาน อนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในความรับผิดชอบงาน สองคือการป้องกันการก้าวล้ำไปเหยียบเท้าของผู้รับผิดชอบคนอื่นๆ หรือผู้ที่รู้ดีกว่าหน้าที่ที่เราไม่ได้รับผิดชอบ
 
 
          ส่วนหนึ่งเพราะในทุกการประชุม โอกาสที่จะเกิดในการโต้เถียงกันภายใต้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้น มักมีอารมณ์เป็นแรงขับเคลื่อนมากกว่าเหตุและผล หากคุมอารมณ์ไม่ดี การใช้คำพูดหรือการล่วงเกิดพื้นที่ความรับผิดชอบที่เกินตัว ก็อาจนำผลเสียมาสู่ตัวบุคคลและทีมได้ เช่น การต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งดันเกิดจากความปากไว หรือการถูกโต้ตอบจากทีมที่รู้ลึกหรือเชี่ยวชาญกว่า ก็ทำให้เรามีบาดแผลที่อับอายขายหน้าได้เช่นกัน
 
          ทางที่ดีต้องตั้งสติอย่าเข้าไปพัวพันในเกมคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ไม่เช่นนั้นความวุ่นวายก็คงไม่ต่างจากการไล่ล่าเสือดาวในชุมชนแห่งนั้นที่ทั้งวุ่นวาย ใช้กำลังคนโดยใช่เหตุ แถมยังมีคนได้รับบาดเจ็บแบบพร่ำเพรื่ออีก
 
          ทำงานกันเป็นทีมใหญ่ๆ ร่วมกับผู้อื่นจึงไม่ง่าย ยิ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละทีมในแต่ะคนด้วยแล้ว การเคารพพื้นที่ที่ต่างคนยืนอยู่ด้วยนั้น ยิ่งต้องเคารพและใส่ใจ เพราะการจะบุกเข้าไปเพื่อยืนยันว่าพื้นที่ที่ฉันยืนนั้นดีกว่าก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยอมกันง่ายๆ อยู่แล้ว อย่าลืมว่าคนก็มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดด้วยการปกป้องตัวเองไม่ต่างจากสัตว์เสียเท่าไหร่
          ที่สำคัญไปกว่านั้นคือสัญชาตญาณการปกป้องของคนนั้นมีมิติและดุร้ายในการโจมตีมากกว่าสัตว์หลายร้อยเท่า เท่าไหร่และแค่ไหนผมเองก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าการมีศัตรูในสนามแห่งการทำงานเหนื่อยน่าจะเหนื่อยกว่าเจ้าหน้าที่ที่ไล่ล่าจับเสือดาวตัวนั้นหลายร้อยเท่าเลยทีเดียวครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก www.workventure.com