คลังคงประมาณการณ์จีดีพีปี 2561 โตว้าวที่ 4.5% อานิสงส์บริโภคเอกชนหนุน หลังการจ้างงาน-รายได้เกษตรขยับตัวดีขึ้น ลุ้นเลือกตั้งช่วยดันเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจ ส่วนส่งออกโตทรุดเหลือ 8% จากคาดการณ์เดิมที่ 9.7% รับปัญหาสงครามการค้าปัจจัยกระทบสำคัญ

          นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  เปิดเผยว่า สศค. ยังคงประมาณการตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.5% เท่าเดิม โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.3-4.7% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ระดับ 3.9% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 4.8% เนื่องจากการใช้จ่ายและบริโภคภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น สอดคล้องกับการจ้างงานและรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น จากผลผลิตที่สูงขึ้นด้วย พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ เหลือ 8.0% จากคาดการณ์เดิม อยู่ที่ 9.7% เนื่องจากปีนี้มีเหตุการณ์ผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าจาก 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ อย่างสหรัฐฯ และจีน

          สำหรับปัจจัยที่มีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 15 ประเทศ ที่ระดับ 4.0% ขณะที่คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ จะทรงตัวที่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากปีก่อน ประมาณ 5% ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2561 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 71.8 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 70.1 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ ยังคาดว่าอยู่ที่ระดับ 1.50% ต่อปี  พร้อมทั้งมีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ ลงเหลือ 38 ล้านคน หรือ 7% จากเดิมที่ 39.5 ล้านคน หรือ 11.1% ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว ลดลงเหลือ 2.01 ล้านล้านบาท หรือ 9.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.08 ล้านล้านบาท หรือ 14.1% ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต ค่าเงินตุรกีที่อ่อนลง ทำให้แย่งชิงตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียจากไทย

          "เศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่แรก 2561 ขยายตัวได้สูงถึง 4.8% ดังนั้นการที่เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ 4.5% จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ส่วนจะขยายตัวได้มากกว่า 4.5% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาตรการเพิ่มเติมที่รัฐบาลจะออกมา โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ส่วนมาตรการช็อปช่วยชาติกระทรวงการคลังไม่มีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว" นายวโรทัย กล่าว

          ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

          อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่าความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งนั้น จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะตามมาด้วย ซึ่งเรื่อง

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net