ถึงชาวมิลเลนเนียลจะดูเป็นเจนฯ ใช้ชีวิตตามอำเภอใจ ไม่ยอมให้เงินมาคุมความสุข ยอมใช้เงินซื้อประสบการณ์ชีวิตด้วยซ้ำ

           แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อดำดิ่งลงไปในจิตใจของชาวมิลเลนเนียลกลับพบว่าพวกเขาเผชิญหน้ากับความเครียดมหาศาล พิสูจน์ได้จากผลการศึกษาของสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (APA) พบว่า กว่าครึ่งยอมรับว่าพวกเขาสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะความเครียดถาโถม 12% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ถึงสองเท่า

          ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? นี่คงเป็นคำถามใหญ่ที่กำลังป็อบอัพขึ้นในใจใครหลายๆคน คำตอบทั้งหมดได้รับไขปริศนาแล้วผ่าน 7 พฤติกรรมของชาวมิลเลนเนียลที่เปิดโอกาสให้ความเครียด ความวิตกกังวลเข้าจู่โจมโดยไม่รู้ตัว

          1.นิสัยการนอนที่แย่ จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า การนอนที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งการเข้านอนที่ไม่เป็นเวลา การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แล็ปท็อปก่อนนอน ล้วนส่งผลต่อการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความเครียดและความวิตกกังวลทั้งสิ้น   

          2.มองข้ามอาหารสมอง ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบทำให้หลายคนละเลยความสำคัญของมื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารเช้า ซึ่งเป็นแหล่งพลังสำคัญของระบบเมตาบอลิซึมและระดับอินซูลินในร่างกายที่ช่วยควบคุมสภาวะจิตใจ เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไมได้รับสารอาหารที่เพียงพอจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่างๆ เช่น มือสั่น สับสน อันนำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวลและความเครียด  

          3.ชอบดื่มกาแฟ การดื่มกาแฟอาจมีส่วนช่วยปลุกเร้าให้ร่างกายตื่นตัว กระฉับกระเฉง พร้อมลุยงานต่อได้มากกว่าปกติ แต่การปล่อยให้ร่างกายดูดซับคาเฟอีนมากไปก็เหมือนยาพิษที่กระตุ้นต่อมความรู้สึกวิตกกังวลที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของแต่ละคน นอกจากนี้กาแฟยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของร่างกายไม่แพ้อาหาร กระทบต่อระบบเมตาบอลิซึมและระดับอินซูลินในร่างกายที่ช่วยควบคุมสภาวะจิตใจ

          4.ขยับตัวน้อย มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจพบว่าพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ชอบอยู่กับที่ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายนั้นส่งผลโดยตรงกับระดับความเครียดและความกังวลอย่างมีนัย ถ้าไม่เชื่อ แทนที่จะนั่งจมอยู่ที่โต๊ะทำงานแถมยังคิดไม่ออก ลองเปลี่ยนบรรยากาศลุกขึ้นมาขยับตัว ไม่แน่ว่าไอเดียดีๆ อาจจะบรรเจิด  

          5.สมาร์ทโฟนเจ้าปัญหา แม้อุปกรณ์เหล่านี้จะทำหน้าที่ให้ความบันเทิง แต่การจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ เป็นการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางให้ทำงานหนัก และมีผลกระทบต่อระบบการคิด ทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและวิตกกังวล ขณะที่การเสพสื่อโซเชียลมากไปอาจกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ ทำให้รู้สึกหดหู่

          6.ปล่อยให้งานกับชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกัน ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียลเจอภาวะความเครียดถามหา มาจากการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ปล่อยให้งานลุกคืบเข้ามาเบียดบังชีวิตส่วนตัวแบบไม่มีขอบเขต เพราะชาวมิลเลนเนียลเชื่อว่า ค่าของงานไม่ได้วัดผลจากเวลาในการทำงาน แต่อยู่ที่ผลของงาน เพราะฉะนั้นพวกเขาไม่แคร์ว่าจะต้องทำงานเฉพาะที่ทำงานเท่านั้น แต่พร้อมเปิดทางให้งานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอย่างอิสระ จนความเครียดถามหาไม่รู้ตัว  

          7.ความบันเทิงเคลือบยาพิษ หลายคนอาจจะคิดว่าการได้นอนเอนหลัง ดูหนังหรือซีรีส์เรื่องโปรดสักเรื่อง คือ การพักผ่อน รีชาร์จตัวเองให้พร้อมลุยอีกครั้ง แต่จากผลการศึกษาพบความจริงอันแสนโหดร้ายว่าสิ่งที่คิดไม่ใช่สิ่งที่เป็น ซ้ำร้ายจากการศึกษายังพบด้วยว่าการดูโทรทัศน์หรือใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ระดับความเครียดเพิ่มมากขึ้น

ไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นชาวมิลเลนเนียลหรือไม่ อย่างน้อยถ้าเช็คลิสต์ทั้ง 7 ข้อดูแล้ว พบว่า ตัวเองสอบผ่านลุยก็อย่าลืมหารางวัลให้ตัวเองสักชิ้น แต่ถ้าพบว่า คุณมีพฤติกรรมครบ 7 ข้อที่บอกมา ขอให้รีบปฏิวัติตัวเองด่วน ก่อนจะเป็นมนุษย์ที่ความเครียดรุมเร้าจนยากเกินจะเยียวยา