หากจำไม่ได้ว่าทำโน่นทำนี่แล้วหรือยัง ทั้งๆ ที่ทำไปแล้ว อาการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ คุณอาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! นี่เราเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเปล่า แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เกิดขึ้นคือ “โรคสมองเสื่อม”

อาการภาวะสมองเสื่อมที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกภาพ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบอาชีพและกิจวัตรประจำวันได้ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ในหลายด้าน โดยร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) ศึกษาวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุสำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้แก่สังคมโดยรวม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในอีก 3 ปีข้างหน้า

อยู่ดีๆ  (ความจำ) ก็หาย thaihealth

10 สัญญาณเตือน บ่งบอกความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม

1.สูญเสียความจำระยะสั้น หลงลืมจนมีผลกระทบต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน ถามย้ำซ้ำไปซ้ำมา ลืมว่าเมื่อครู่พูดอะไรลืมนัดหมายที่สำคัญ

2.ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำไม่ได้ เช่น ลืมเครื่องปรุงอาหารที่เคยทำประจำ หรือว่าลืมว่าต้องใส่อะไรก่อนหลัง

3.มีปัญหาในการใช้ภาษา ใช้คำผิด พูดไม่รู้เรื่อง เรียงลำดับคำผิด คิดไม่ออกว่าจะใช้คำอะไร

4.สับสนเรื่องเวลา สถานที่และทิศทาง หลงทิศทาง ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่คุ้นเคย หลงทางกลับบ้านไม่ถูก หาทางไปเข้าห้องน้ำในบ้านตนเองไม่เจอ

5.ดุลพินิจบกพร่อง วิจารณญาณไม่ดี ตัดสินใจและแยกแยะความแตกต่างเรื่องระยะทางสีสัญญาณไฟจราจรไม่ได้ อาจส่งผลให้ให้เป็นปัญหาการขับรถได้

6.สติปัญญาด้อยลง คิดและทำเรื่องซับซ้อนไม่ได้ เดิมเคยคิดเลขได้ แต่กลับคิดเลขง่ายๆไม่ได้

7.วางของผิดที่ผิดทาง เช่นเอารีโมทโทรทัศน์ไปไว้ในตู้เย็น เก็บเสื้อผ้าในตู้กับข้าว

8.อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เดี๋ยวร้องให้ โกรธนิ่งเฉยเมย ไม่มีอารมณ์ ไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง

9.บุคลิคภาพเปลี่ยนไป มีพฤติกรรมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากเป็นคนเงียบๆ กลายเป็นคนช่างพูด ใส่เสื้อกันหนาวในวันที่อากาศร้อนจัด

10.ขาดความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนเฉื่อยๆ ซึม ไม่กระตือรือร้น นั่งเหม่อลอยเป็นชั่วโมง

อยู่ดีๆ  (ความจำ) ก็หาย thaihealth

แม้สาเหตุบางอย่างของสภาวะสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับลดความเสี่ยงต่างๆ ได้ดังนี้

1.เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ควรดูแลทั้งเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อม โดยหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมอ่าน ปรึกษาแพทย์ เข้าอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เพราะยิ่งมีความเข้าใจมามกขึ้น จะทำให้สามารถหาวิธีดู แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

2.ปรับสถานที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย เก็บของที่จะเป็ฯอันตรายทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ได้ง่าย เช่น กาต้มน้ำ ปลั๊กไฟ เตาแก๊ส ควนติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคง อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเหมาะสม

3.เตรียมแผนสำรอง ในกรณีที่ตนเองมีภารกิจส่วนตัวจำเป็น หรือเจ็บป่วย ทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้กับผู้ดูแลเพียงแค่คนเดียว สมาชิกคนอื่นในครอบครัวต้องเข้ามาดูแลผลัดเปลี่ยน ดูแลผู้ป่วยบ้างเพื่อให้ผู้ดูแลหลักได้พัก หรือมีเวลาของตนเองบ้าง

4.การดูแลตัวเองการที่เราจะสามารถให้การดูแลผู้อื่นได้ดีได้ ส่วนหนึ่งเราต้องสามาถลูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจก่อนเสมอ

อยู่ดีๆ  (ความจำ) ก็หาย thaihealth

เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นอาจจะมีอาการหลงลืมได้บ้าง แต่หากคุณจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย อาจอยู่ในสภาวะเสี่ยงโรคสมองเสื่อม และสามารถเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนสามารถชะลอความเสื่อมได้ ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือบริหารสมองด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การท่องบทสวดมนต์ การร้องเพลง สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th