ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 จำนวน 18.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

โดยงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 7.5% คิดเป็นจำนวน 116.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560  ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยในทุกกลุ่ม สินเชื่อลูกค้าบรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ SME ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 162.1% ระดับสูงสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย

นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของกรุงศรีในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2561 เป็นที่น่าพอใจจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของเงินให้สินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 2.12% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 162.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสะท้อนถึงศักยภาพของกรุงศรีและความสามารถในการขยายธุรกิจอย่างรอบคอบเพื่อได้ประโยชน์จากสภาพตลาดที่เอื้ออำนวยมากขึ้น"

นายโกโตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2561 ในกรณีมาตรการกีดกันทางการค้าและผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ชัดเจนขึ้น และการเพิ่มขึ้นของรายได้โดยรวม ด้วยสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับปัจจัยด้านฤดูกาลสำหรับสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยและสินเชื่อเพื่อธุรกิจในไตรมาสที่ 4 ดังนั้น ธนาคารคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อทั้งปี 2561 จะอยู่ในกรอบ 8-10%”

สรุปผลประกอบการตามงบการเงินรวมที่สำคัญสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561

 

  • กำไรสุทธิ: จำนวน 18.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560
  • การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ: เพิ่มขึ้น 7.5% คิดเป็นจำนวน 116.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ
    ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น 7% โดยครอบคลุมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อลูกค้าบรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ SME เติบโตที่ 14.6% และ 10.2% ตามลำดับ
  • การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 4.3% หรือจำนวน 57.4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ
    ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560
  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): อยู่ที่ 3.81% เทียบกับ 82% ในช่วงเดียวกันของปี 2560
  • รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: เพิ่มขึ้น 4% หรือจำนวน 2.2 พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ กำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและรายได้หนี้สูญรับคืน
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: อยู่ที่ 46.7% ปรับตัวดีขึ้นจาก 47.4% ในช่วงเดียวกันของปี 2560
  • สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs): อยู่ที่ระดับ 2.12%
  • อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 162.1%
  • อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: ยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 50%