เพราะการทำงานไม่ใช่บททดสอบความอดทน ว่าใครคือผู้ที่แข็งแกร่งสามารถนั่งติดโต๊ะ จ้องคอมพิวเตอร์ได้นานที่สุด คือ ผู้ชนะ แต่การทำงาน คือ การวัดทักษะความเข้าใจในงานที่ทำ เสริมด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อบรรลุมิชชั่นที่ได้รับมอบหมาย

          เพราะฉะนั้น แทนที่นายจ้างจะยึดติดกับแนวคิดเก่าๆ เหนี่ยวรั้งให้พนักงานนั่งติดโต๊ะ รอตอกบัตรกลับบ้านเมื่อนั่งทำงานครบชั่วโมง ถึงเวลาแล้วที่นายจ้างยุคใหม่ต้องใจกว้าง พร้อมเปิดใจยอมรับว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของงาน ในทางตรงข้าม ยังอาจเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ เพราะมีผลวิจัยหลายชิ้นที่ประสานเสียงว่า การนั่งทำงานติดโต๊ะราวกับกำลังพิชิตฟูลมาราธอนนั้น ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของเนื้องาน ซ้ำร้ายยังทำให้พนักงานเครียด ไม่มีความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต จนไม่อาจสร้างผลงานที่ดีได้  

          ถ้าไม่เชื่อ ตามไปท้าพิสูจน์จากผลวิจัยของศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล แห่งมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ของนิวซีแลนด์ เขาเพิ่งทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฏีความสัมพันธ์ของเวลาและผลลัพธ์จากการทำงานกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 200 คน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยให้วันหยุดพิเศษพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 1 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ลดเงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆ

          ผลปรากฏว่า ถึงชั่วโมงการทำงานจะลดลง แต่ผลงานของพนักงานกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้น แถมยังมีความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นด้ชัด

          “พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ และ ทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังลดพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานจนเหลือน้อยลงและแทบไม่มีเลย” ตัวแทนของบริษัทที่ร่วมในการวิจัยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน พร้อมแย้มว่า กำลังนำเสนอบอร์ดบริหารว่าจะให้มีการนำแนวทางทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาใช้อย่างถาวร

          อย่างไรก็ตาม นอกจากผลลัพธ์ข้างต้นจะคว้าใจลูกจ้างทุกคนไปครอง ยังมีอีกหลายงานข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ยกตัวอย่าง กรณีของเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวจากสงครามและกลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้าได้อย่างน่าทึ่ง อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมการทำงานที่ทุ่มเท ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีชั่วโมงทำงานสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) และเมื่อเทียบจีดีพีกับชั่วโมงการทำงานแล้วพบว่า อยู่รั้งท้ายตารางเช่นเดียวกับชาติยุโรปอย่าง กรีซ  

          อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ได้ลงมติให้ลดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ลง จาก 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือไม่เกิน 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยให้มีผลบังคับกับบริษัทขนาดใหญ่ก่อนที่จะขยายผลไปถึงผู้ประกอบขนาดย่อมลงมา

          เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าอีกหนึ่งประเทศที่มนุษย์เงินเดือนทำงานแบบมาราธอน จนมีข่าวคราวมนุษย์เงินเดือนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นเริ่มมีการลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลง ล่าสุดกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นจัดโครงการ "วันจันทร์ที่สดใส" (Shining Monday) เรียกร้องให้คนได้เข้างานตอนบ่ายวันจันทร์เดือนละครั้ง หลักจากก่อนหน้านี้รัฐบาลจัดโครงการ "Premium Friday" ให้คนเลิกงานในเวลาบ่ายสามโมง ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนเพื่อจะได้มีเวลาออกไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

          ทั้งหมดนี้ คือ อีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ตอกย้ำว่า สุดท้ายแล้วเวลาทำงานไม่ได้มีผลโดยตรงกับผลของงานเสมอไป แต่ความมุ่งมั่น สุขภาพกายและใจของเหล่ามดงานต่างหากที่มีผลต่อคุณภาพของงาน