หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เจ็บปวดทุกครั้งที่ได้ยินประโยคสุดแสลงใจทำนองว่า “คนทำงานเก่งไม่สู้คนพรีเซนต์เก่ง” อย่าได้น้อยใจหรือยอมแพ้ในโชคชะตา ลองมาดูเคล็ดไม่ลับจาก Carmine Gallo นักเขียนชื่อดังที่มีเทคนิคแพรวพราวเกี่ยวกับทักษะการสื่อสาร เขาได้รวบรวม 7 เทคนิคสำหรับการพรีเซนงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงๆไม่ว่าคุณจะทำงานในสายไหน แต่ละข้อจะเด็ดดวงขนาดไหน ไปดูกันเลย...

          1.สร้างสตอรี่ก่อนสร้างสไลด์ เบื้องหลังความสำเร็จของผู้กำกับมือรางวัลหลายๆคน เริ่มต้นจากการเขียนสตอรี่บอร์ด เพื่อร่างเรื่องราวของแต่ละซีนก่อนจะลงมือถ่ายทอดไอเดียสู่แผ่นฟิล์ม เช่นเดียวกับการทำพรีเซนเทชั่นก่อนจะเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมสไตล์นำเสนอไอเดียในฝัน ลองสละเวลาสักนิด ค่อยๆร่างไอเดียในหัวให้ออกมาเป็นเรื่องราวก่อน ถ้ากลัวว่าไอเดียจะฟุ้ง จนจับต้นชนปลายไม่ถูก ลองคิดภาพพรีเซนเทชั่นว่าเป็นเหมือนหนังสักเรื่อง ถ้าจะให้น่าสนใจต้องเปิดเรื่องอย่างไร ตัวละครจะมีใคร จะเฉลยปมตอนไหน

          2.อย่ากุมความลับ เก็บไม้ตายไว้นานเกินไป ถึงจะเปรียบเทียบว่าการพรีเซนเทชั่นแต่ละหน้าก็เหมือนหนังแต่ละซีน แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำให้สไลด์ของคุณซับซ้อนซ่อนเงื่อน จนพาลให้คนฟังรู้สึกเหนื่อยหน่ายเสียก่อน แทนที่จะเก็บปมไว้เฉลยตอนหลัง คุณอาจเผยแต่ต้นเลยว่า ไอเดียของคุณคือ อะไร มีประโยชน์อย่างไร เช่นช่วยเซฟเงินให้บริษัท เพิ่มยอดขาย ทำให้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้นอย่างไร จากนั้นค่อยๆ เผยนำข้อมูลที่จะมาสนับสนุนแนวคิดนั้น

          3.กำจัด Bullet point ออกไปให้หมด ฉีกทุกตำราที่เคยรู้มาว่า พรีเซนเทชั่นที่ดี ต้องอาศัย bullet point เพื่อให้เข้าใจง่าน เพราะแม้แต่อัจฉริยะก้องโลกอย่างสตีฟ จ็อป, ทิม คุก ซีอีโอคนปัจจุบันของแอปเปิ้ล, ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิ้ล, อีลอน มักส์ ซีอีโอของเทสลา ตลอดจนวิทยากรบนเวที TED หลายๆ คนยังเมินที่จะใช้ bullet point ดั่งที่คริส แอนเดอร์ซัน อดีตนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล TED เคยเขียนในหนังสือว่า การตั้งหัวข้อในพาวเวอร์พอยด์ แล้วตามมาด้วยกองทัพ Bullet point ที่เรียงรายไปด้วยประโยคที่ยืดยาว เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย เพราะธรรมชาติของสมองคนเราจะเลือกสนใจเฉพาะสิ่งที่น่าดึงดูด และแน่นอนว่า Bullet point ไม่ได้จัดอยู่ในนั้น  

          4.ใช้รูปให้มากกว่าข้อความ ปกติแล้วผู้ฟังจะสามารถจดจำไอเดียที่สื่อสารในรูปแบบข้อความได้เพียง 10 % แต่ถ้าได้เห็นทั้งรูปและข้อความจะจดจำได้มากกว่าถึง 65% เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม สไลด์ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสไลด์ให้สตีฟ จ็อบส์ ถึงบอกว่ากฎเหล็กที่จ็อบส์ใช้เสนอเวลาทำพรีเซนเทชั่นคือ หลัก 10-40 หมายถึงใน 10 สไลด์แรกของการพรีเซนเทชั่น ห้ามใช้คำเกิน 40 คำ

          5.สร้างความตื่นเต้นในระหว่างการพรีเซนทุก 10 นาที จากการวิจัยพบว่า ในการพรีเซนงานใดๆ ก็ตาม ผู้ฟังจะหมดความสนใจภายใน 10 นาที เพราะฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาความสนใจที่อายุสั้นเหลือเกิน ถ้าจะสะกดใจผู้ฟังให้ราวกับต้องมนต์ ลองสร้างความตื่นเต้นระหว่างการพรีเซน ด้วยการเปลี่ยนธีมของพรีเซนเทชั่นไปเรื่อยๆ ใช้การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความสนใจ หรือ ลองหาวิทยากรมาช่วยเพิ่มสีสัน เป็นต้น

          6.สร้างประสบการณ์ว้าวๆ ให้เป็นที่จดจำ ครั้งหนึ่งที่บิล เกตต์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ขึ้นเวที TED talk เพื่อพูดถึงการแพร่ระบาดของโรคมาเลเรีย แทนที่เขาจะฉายสไลด์ที่สะท้อนถึงสถานการณ์ของมาลาเรีย เขาเลือกสร้างความจดจำให้ผู้ฟังด้วยการปล่อยกองทัพยุงออกมาจริงๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนฟังจดจำ และเซอร์ไพรส์สุดๆ   

          7.ฝึกให้หนัก พรสวรรค์เป็นสิ่งที่ฟ้าให้มา แต่พรแสวงที่เกิดจากความฝึกฝนทุกคนสร้างได้ หากอยากพรีเซนงานให้เก่ง อย่าคร้านที่จะฝึกฝนให้บ่อย เพื่อลดข้อผิดพลาด เพิ่มความมั่นใจ ถ้าจะให้ดีแนะนำว่าให้ซ้อมพรีเซนเสมือนจริงอย่างน้อย 10 รอบ