นายชาญณัฏฐ์ แก้วมณี รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงหมอชิตที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ น่าจะได้ข้อยุติว่าจะเลือกผู้ที่ได้รับสัญญาเดิม คือ กลุ่มบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ หรือจะเปิดประมูลเพื่อหาผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ ซึ่งล่าสุดทางบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ได้แสดงความพร้อมในการเตรียมเงินเพื่อลงทุนในโครงการนี้ไว้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท
ส่วนเป้าหมายการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตจำนวน 7 แสนตารางเมตร มูลค่าโครงการอยู่ที่ประมาณ 1.8-2 หมื่นล้านบาท เพื่อทำโครงการเชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน ที่เป็นไปได้ทั้งห้างสรรพสินค้า เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ โรงแรม ออฟฟิต และที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดเรื่อง พ.ร.บ.ร่วมทุน และปัญหาการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมธนารักษ์จ่ายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารที่จอดรถไฟฟ้า สถานีขนส่งหมอชิตให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส คิดเป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 มาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจ่ายค่าเสียหายเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ นายชาญณัฏฐ์ กล่าวถึงกรณีที่ราชพัสดุโรงภาษีร้อยชักสาม ซอยเจริญกรุง 36 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กรมธนารักษ์ เคยมีข้อตกลงในสัญญาร่วมทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานของกิจการค้าร่วม คือ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค หรือ N-PARK ว่า ล่าสุดทาง N-PARK หลังจากที่กลุ่มมาลีนนท์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แสดงความต้องการที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยยอมตกลงเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการขนย้ายที่พักของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและตำรวจน้ำ ที่มีมูลค่าราว 8-10 ล้านบาท รวมถึงจ่ายค่าภาษีโรงเรือนที่ค้าง กทม.อยู่ 4 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าขอให้การส่งมอบคืนพื้นที่ภายในเวลา 30 ปีให้กรมธนารักษ์ จะขอให้เริ่มนับใหม่หลังเข้าดำเนินการ
ที่มา มติชน