ใน 1 วันคุณคิดว่า คุณต้องตัดสินใจกี่เรื่องตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งหลับตานอน ? ได้คำตอบแล้วเก็บในใจก่อน แล้วถามตัวเองต่อว่า ตัวเลขที่ได้ แบ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากและง่ายกี่เรื่อง?

          ไม่ต้องแปลกใจหากตัวเลขที่ออกมาจะมีจำนวนต่างกันอยู่หลายเท่าตัว เพราะปริมาณของการตัดสินใจไม่ได้สำคัญเท่ากับคุณภาพของการตัดสินใจ ต่อให้คุณจะตัดสินใจเรื่องง่ายๆถูกทุกเรื่อง แต่พลาดในการตัดสินใจเรื่องยากๆ ครั้งเดียวก็อาจทำให้ชีวิตหลงทางได้เช่นกัน

          รูธ จาง ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญา จากมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส สหรัฐอเมริกาได้พูดบนเวที TED Talk ถึงวิธีการรับมือกับการตัดสินใจที่ยากๆว่า เมื่อต้องตัดสินใจคนเรามักเลือกที่จะนำข้อดี ข้อเสียมาเปรียบเทียบ แน่นอนว่าถ้าเป็นการตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ข้อดีมักชนะข้อเสียอย่างขาดลอย แต่สำหรับการตัดสินใจที่ยาก ข้อดี-ข้อเสียที่ได้ลิสต์ออกมามักมีเหตุผลกินกันไม่ลง อารมณ์เหมือนเจอกระเป๋าถือสองรุ่นแล้วอยากได้ทั้งคู่ แต่ไม่รู้จะเลือกแบบไหน เพราะสวยและดีเป็นคนละแบบ

          อย่างไรก็ตาม ในเมื่อการตัดสินใจเรื่องยากๆไม่ได้ง่ายเหมือนการซื้อกระเป๋า ที่สุดท้ายเลือกไม่ได้ก็จบปัญหาด้วยการซื้อทั้งสองใบ เราจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการตัดสินใจยากๆที่ไม่รู้จะแวะเวียนเข้ามาในชีวิตเมื่อไหร่ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถาม 5 ข้อนี้กับตัวเองทุกครั้งก่อนตัดสินใจ

1.ถ้าฉันไม่ทำตอนนี้ จะเสียใจภายหลังหรือไม่?

          คำถามนี้คล้ายๆ กับแนวคิด 10/10/10 ของ ซูซี่ เวลช์ ซึ่งได้รับความนิยมและถูกพูดถึงอยู่มากพอสมควร หลักการของแนวคิดนี้ คือ ฝึกตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งด้วยคำถามต่อไปนี้ เพื่อเป็นการประเมินผลการตัดสินใจในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวว่า ถ้าเราตัดสินใจทำสิ่งนั้นไป เราจะรู้สึกอย่างไรใน 10 นาทีหลังจากนี้ แล้วเราจะรู้สึกอย่างไรใน 10 เดือนหลังจากนี้ แล้วเราจะรู้สึกอย่างไรใน 10 ปีหลังจากนี้

          ฟังดูอาจเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้าคุยกับตัวเองได้จริงจังมากพอ คุณจะเห็นภาพอนาคตตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งหมอดู และ ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังว่า ตอนนั้นคิดไม่รอบคอบพอ

2.หัวใจฉันพูดว่าอะไร?

          บางครั้งสัญชาตญาณก็ทำงานได้ดีไม่แพ้สมอง เรื่องบางเรื่องอาศัยแค่หลักการและเหตุผลอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้ความรู้สึกร่วมด้วย

3.ฉันทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร?

          คนเราล้วนมีเป้าหมายในชีวิตต่างกัน จึงทำให้คนเราเลือกที่จะคิด ทำ และ ตัดสินใจแตกต่างกันไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้การตัดสินใจของคุณในวันนี้ทำให้ต้องเสียภายหลัง รู้จักตัวเองให้ดีพอก่อน ว่า เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร จะได้ตัดสินใจเลือกหนทางที่จะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไม่พลาด

4.พร้อมรับผลที่ตามมาหรือเปล่า?

          เมื่อคุณเลือกที่จะก้าวเดินไปในเส้นทางหนึ่ง คุณก็ต้องถามตัวเองให้ดีว่า พร้อมหรือยังหากต้องแลกหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง

5.พร้อมเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ตัดสินใจหรือยัง?

          รูธ จาง ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากสหรัฐ ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า บางครั้งข้อดี-ข้อเสียของการตัดสินใจที่ยากๆนั้น ก็นำมาเปรียบเทียบกันได้ยาก เพราะเกณฑ์การประเมินไม่ได้อยู่ที่ว่า ตัวเลือกไหน ดีกว่า แย่กว่า และมีค่าเท่ากัน แต่อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองข้อดีและข้อเสียจากมุมไหน เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะวิ่งหนีทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจที่ยากๆ ให้คิดเสียว่า นี่คือโอกาสที่จะให้สมองได้โชว์ฟอร์ม อวดศักยภาพในการคิดและหาเหตุผลเพื่อเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด