เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกใบเดิมจนส่งผลกระทบไปยังวิถีชีวิต และ ธุรกิจในหลายภาคส่วน แต่ยังสร้างบทท้าท้ายใหม่ในโลกธุรกิจ ซึ่งแวดล้อมไปด้วย การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสับสนซับซ้อนของ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ (Complexity) และ ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนของปัจจัยต่างๆ (Ambiguity) ซึ่งเรียกรวมๆว่า VUCA เพื่อฝ่าด่านบททดสอบนี้ หลายองค์กรเลือกพาตัวเองอัพเลเวลไปสู่องค์กรนวัตกรรมอย่างเต็มกำลัง แต่สุดท้ายแล้วมีองค์กรมากมายที่ยังไปไม่ถึงฝั่ง เพราะยังยึดติดอยู่กับ 5 กรอบธรรมเนียมปฏิบัติเก่าๆที่เป็นอุปสรรคต่อการกระบวนการคิดแบบนวัตกรรม

มาดูซิว่า 5 กรอบความคิดนี้ร้ายกาจขนาดไหนและ องค์กร ของคุณกำลังหลงกลติดกับดักอยู่หรือเปล่า

         1.ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือกที่น่าอภิรมย์

แทนที่จะมองความล้มเหลวเป็นตัวน่ารังเกียจที่ต้องขจัดไปให้พ้นจากชีวิต ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความล้มเหลวก็ไม่ต่างจากสโนว์บอลลูกเล็กบนยอดเขา ยามเมื่อตกลงจากที่สูง ค่อยๆกลิ้งลงมาสู่พื้นล่าง ตลอดทางมันได้สั่งสมหิมะจนแปลงร่างจากสโนว์บอลลูกเล็กที่ปวกเปียกเป็นสโนว์บอลลูกใหญ่ที่น่าเกรงขาม เปรียบเหมือนกับการทำงาน ความล้มเหลวมากเท่าไหร่ ถ้ารู้จักรับมือและเปลี่ยนความล้มเหลวนั้นเป็นบทเรียน ก็มีแต่ยิ่งแข็งแกร่ง

         2.นวัตกรรมเกิดจากการทำงานแบบไม่วอกแวก

ความตั้งใจเป็นสิ่งที่ดี แต่การทำงานไม่ใช่การวิ่งมาราธอน ใครที่นั่งแช่อยู่ติดโต๊ะทำงานนานที่สุด ไม่ได้การันตีว่าเขาคือคนที่ทำงานได้ตอบโจทย์กับองค์กรมากที่สุด หลายครั้งที่ไอเดียสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน จากการพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ เพราะฉะนั้นแทนที่จะนั่งจมปลักอยู่ที่โต๊ะทำงานเพื่อตามหานวัตกรรม มีอีกวิธีง่ายๆที่มีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่าทำแล้วได้ผล นั่นคือ การออกกำลังกาย ซึ่งผลการวิจัยของ Frontiers of Human Neuroscience ชี้ชัดว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีแนวโน้มจะทำงานที่ต้องอาศัยความคิดที่นอกกรอบได้ดีกว่าคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย   

         3.พนักงานต้องการใช้ชีวิต และ ทำงานอย่างสมดุล

        หมดยุคกับการประกาศตัวว่าเป็นผู้นำสายกลาง ที่งานและชีวิตส่วนตัวต้องบาลานซ์ เพราะในโลกของความเป็นจริง เราไม่ได้มีเส้นแบ่งตรงกลางระหว่างเวลางานกับส่วนตัวอย่างชัดเจน ยิ่งคนสมัยนี้ต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทางที่ดีแทนที่จะเสียพลังงานไปกับการหาเส้นแบ่ง สู้ทำทุกบทบาทที่มีให้เต็มที่ไปพร้อมกัน เพราะหนึ่งในคุณสมบัติของผู้นำแห่งโลกอนาคตที่พร้อมพาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม คือ ต้องพร้อมรับมือกับทุกบทบาทที่เข้ามาท้าทายได้อย่างรวดเร็ว และมีทักษะในการสื่อสารที่ดีเยี่ยม พร้อมเป็นหลักประกันให้ลูกทีมได้มั่นใจ

         4.อย่าเอาปัญหามาลงที่ฉัน เว้นแต่คุณจะพาทางออกของปัญหามาด้วย

        ยุคที่ข้อมูลไหล่บ่า โลกเปลี่ยนไวแบบเสี้ยวนาที วันแมนโชว์ที่รอบรู้ไปทุกเรื่อง อาจไม่ใช่คนที่ตอบโจทย์กับองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สุด เพราะสิ่งที่องค์กรยุคใหม่ต้องการคือ กลุ่มคนที่พร้อมจะช่วยกันคิดและตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ

         5.หนทางไปสู่นวัตกรรม ไม่มีคำว่าง่าย

ถึงวันนี้หลายคนจะเริ่มคุ้นชินกับคำว่า “นวัตกรรม” แต่น้อยคนนักที่เข้าใจความหมายและนำนวัตกรรมไปใช้อย่างเข้าใจ นวัตกรรมในหลายองค์กรจึงกลายเป็นสิ่งที่อยู่บนหิ้ง มองเห็นแต่จับต้องไม่ได้ ทั้งที่จริงๆแล้วหนทางที่จะไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมไม่ได้ซับซ้อนและยากเย็น ยกตัวอย่าง 3M สนับสนุนให้พนักงานกล้าเสี่ยง ไม่ต้องกลัวที่จะลองผิด ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือและเชื่อใจกัน เมื่อใดที่คุณมีไอเดีย คุณสามารถแชร์ให้เพื่อนในทีมหรือแม้แต่ทีมในต่างประเทศช่วยออกความเห็นได้ นอกจากนี้ยังมีไอเดีย “15 percent time” หรือการเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถใช้เวลา 15 % ของเวลางานไปทดลองทำสิ่งที่พวกเขาคิดได้ ใครจะรู้ว่าไอเดียเล็กๆอาจสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ก็ได้