การไปพบจิตแพทย์หรือปรึกษานักจิตวิทยา ในปัจจุบันเป็นสิ่งปกติและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมค่ะ

การที่คุณไปพบจิตแพทย์ ไม่ได้หมายความว่า คุณมีความผิดปกติหรือ เป็นโรคจิต เสมอไป

เพียงแต่คุณอาจจะมีปัญหาชีวิตบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขหรือหาคำตอบได้ด้วยตัวเองและต้องการพึ่งพามืออาชีพในการช่วยแก้ปัญหาก็เพียงเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าการเก็บมานั่งคิดคนเดียวนะคะ

ไม่สบายใจ1

เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ ควรทำอย่างไรต่อไปดี

ความไม่สบายใจในที่นี้ เราหมายถึง สภาวะอารมณ์ไม่พึงปรารถนาต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความเศร้า ความหงุดหงิดใจ ความสิ้นหวัง ความละอายใจ ความรู้สึกผิด เป็นต้น

ใครๆก็รู้สึกไม่สบายใจได้ จากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ หรือแม้แต่เหตุการณ์ปกติที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ สิ่งแรกที่เรานึกถึง คือ เราควรจะรับมือกับมันอย่างไรดี ซึ่งแต่ละคนก็คงมีวิธีการรับมือแบบเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป

บางความสบายใจ เราสามารถจัดการกับมันได้อย่างง่ายดายภายใน 2-3 ชั่วโมง แต่ความไม่สบายใจบางอย่างกลับฝังลึกในจิตใจของเรานานเป็นปีๆ และไม่ว่าเราจะพยายามเท่าไหร่ มันก็เหมือนจะไม่ถึงทางออกสักที และเริ่มมีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้และแยกแยะให้เป็น ว่า ความไม่สบายใจแบบไหนที่เราสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ และความไม่สบายใจแบบไหนที่จำเป็นจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่ง คุณสมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ได้เขียนถึง 3 รูปแบบของความไม่สบายใจและวิธีการรับมือกับมัน ไว้ดังนี้ค่ะ

ไม่สบายใจ2

ความไม่สบายใจ 3 รูปแบบ และวิธีการรับมือ

 1. เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ แต่ไม่มีอาการที่เป็นปัญหา

ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจ แต่ยังไม่มีอาการที่เป็นปัญหาที่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และยังสามารถดำเนินชีวิตได้แบบปกติ สิ่งที่คุณควรจะทำ คือ การสำรวจที่มาของความรู้สึกนั้นด้วยตัวเองก่อน

โดยคุณจะต้องหาสาเหตุว่า ความไม่สบายใจนั้นเกิดจากอะไรในชีวิต แล้วลงมือเริ่มแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเองหรือพยายามทำใจยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ รวมถึง การหากิจกรรมที่คุณสนใจ มา ช่วยผ่อนคลายความเครียดลงบ้าง

ความไม่สบายใจแบบนี้ เกิดขึ้นได้กับทุกคนและก็สามารถแก้ไขได้เพียงแค่คุณมีความอดทนและพยายามแก้ปัญหา โดยสิ่งที่สำคัญ คือ คุณไม่จำเป็นจะต้องกดดันตัวเองเพื่อรีบแก้ปัญหาให้ออกในเร็ววัน คุณควรจะให้เวลากับตัวเองในการค่อยๆคิด ค่อยๆทำ ค่อยยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วสักวันมันก็จะบรรเทาลงค่ะ

วิธีการรับมือ

ในกรณีนี้ คุณอาจจะยังไม่จำเป็นจะต้องไปพบจิตแพทย์ เนื่องจากความไม่สบายใจนั้น ยังไม่ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากคุณต้องการทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ คุณอาจจะเลือกวิธีปรึกษาคนใกล้ชิด อย่างเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว ควบคู่ไปกับการพยายาม แก้ไขปัญหา ด้วยตัวเองด้วยค่ะ

ไม่สบายใจ3

2. เริ่มมีอาการที่เป็นปัญหา  แต่ยังไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากนัก

อาการนี้จะเกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง แต่ความไม่สบายใจของคุณก็ยังไม่หายไป แม้ว่าคุณจะพยายามลงมือแก้ไขมันแล้วก็ตาม โดยความไม่สบายใจนี้ จะเริ่มส่งผลให้คุณเริ่มมีอาการที่เป็นปัญหา เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัวบ่อยๆ ทานอาหารไม่ลง เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้จะยังไม่รุนแรงมากนัก และคุณจะยังสามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติอยู่

วิธีการรับมือ

สำหรับกรณีนี้ สิ่งแรกที่คุณควรจะทำ คือ การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างค่ะ เพราะ คนรอบข้างอาจจะมองเห็นปัญหาในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างจากที่คุณเคยคิด และไม่แน่เขาอาจจะมีไอเดียดีๆที่สามารถช่วยปลดความไม่สบายใจของคุณได้นะคะ ซึ่งจริงๆแล้ว แค่การระบายความรู้สึกไม่สบายใจต่างๆออกมาให้คนอื่นฟังเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นแน่นอนค่ะ

นอกจากนั้น คุณควรจะต้องพิจารณาการเข้ารับความช่วยเหลือจากมืออาชีพควบคู่ไปด้วย การพูดคุยกับนักจิตวิทยา จะช่วยให้คุณได้สำรวจและพิจารณาความไม่สบายใจ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมได้ค่ะ

ไม่สบายใจ4

3. มีอาการที่เป็นปัญหารุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ความไม่สบายใจเหล่านี้ อาจจะเกิดจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจที่รุนแรง หรือความเครียดสะสมที่กินระยะเวลามายาวนาน ทำให้ความไม่สบายใจนี้ไม่สามารถหายไปได้ง่ายๆ และเริ่มมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง

ซึ่งความไม่สบายเหล่านี้ อาจจะทำให้คุณเกิดอาการทางจิตเวชต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัวการเข้าสังคม หรืออื่นๆได้

วิธีการรับมือ

ในกรณีนี้ เราขอแนะนำให้คุณ เข้าไปพบจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยโรคต่อไปค่ะ ซึ่งนอกจากจิตแพทย์จะรับฟังปัญหาของคุณและช่วยแก้ไขมันแล้ว อาจจะต้องมีการทานยาควบคุมอาการควบคู่ไปด้วย

แต่ถึงแม้คุณจะต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์แล้ว การแก้ปัญหาความไม่สบายใจด้วยตัวเองก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ค่ะ ซึ่งเมื่อรวมกับคำแนะนำของจิตแพทย์แล้ว เราเชื่อว่าความไม่สบายใจนี้จะต้องคลี่คลายในเร็ววันแน่นอน

ความไม่สบายใจทั้ง 3 รูปแบบ เป็นแนวทางๆคร่าวๆ เพื่อให้คุณได้เริ่มสังเกตตัวเองมากขึ้นและเลือกวิธีการรับมือกับปัญหาของคุณได้เหมาะสมค่ะ

ท้ายที่สุดแล้ว คุณเป็นคนเดียวที่จะตัดสินใจได้ว่า เมื่อไหร่กันที่คุณควรจะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ ซึ่งเราอยากให้คุณสลัดความกลัวหรือความกังวลทิ้งไปนะคะ และขอให้อาการดีขึ้นในเร็ววันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก finance.rabbit.co.th