อีกสัก 10  ปีข้างหน้า ใครที่ยังใช้จ่ายด้วยเงินกระดาษอยู่ คงจะโดนคนรอบข้างมองแรง หาว่าเชยเป็นเต่าล้านปีแน่ๆ เลยค่ะ เพราะในอนาคตโลกของเราส่วนใหญ่คงจะก้าวเข้าสู่การเป็น Cashless Society หรือเรียกภาษาไทยเก๋ๆ ว่า สังคมไร้เงินสด  กันหมดแล้วล่ะค่ะ อย่างตอนนี้ พี่จีน กับ พี่สวีเดน เขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัวภายในเวลาอันรวดเร็วแล้ว และอีกไม่นานประเทศอื่นๆ ก็คงรีบเดินหน้าตามไปแน่นอนเลย

สังคมไร้เงินสด เป็นอย่างไร 

แนวคิดของ Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด มีมาตั้งแต่สมัยปี 1950  แล้วค่ะ มันว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เงินสดจะมีบทบาทและความสำคัญน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และการโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงิน

ว่าง่ายๆ คือ ยุคของการพกเงินสด และควักแบงค์ควักเหรียญออกจากกระเป๋ามาจ่ายจะหมดไปและถูกแทนที่ด้วยการจ่ายเงินผ่าน บัตรเครดิต เดบิต หรือผ่านสมาร์ทโฟนแทน

ไม่ต้องใช้เงินสด แล้วมันดีอย่างไร

ข้อดีหลักๆ ของการเป็นสังคมไร้เงินสด คือ เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ไหนเวลาใดก็ได้ ทำให้มันสะดวกสบาย รวดเร็ว และง่ายดายมากขึ้น โดยไม่ต้องพกเงินสดติดตัวอีกต่อไปค่ะ

ลองคิดคิดดูนะคะ ว่าต่อไปนี้ เราจะสามารถออกจากบ้านได้ด้วยการพกโทรศัพท์เพียงแค่เครื่องเดียว เราจะนั่งรถไฟ ขึ้นรถเมล์ เรียกวินมอเตอร์ไซด์ เข้าร้านสะดวกซื้อ จ่ายตลาด ซื้อข้าวแกง หรือแม้แต่บริจาคเงินได้เพียงแค่ใช้ QR Code หรือ Mobile Banking เท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปกดเงินที่ตู้ ATM  หรือเดินเข้าธนาคารไปถอนหรือฝากเงินอีกแล้ว

อีกหนึ่งข้อดีข้องมัน คือ มันช่วยประหยัดงบประมาณของธนาคารได้มหาศาลเลยล่ะค่ะ คิดดูนะคะว่าในแต่ละปี ธนาคารต้องเสียเงินไปกับการดูแลจัดเก็บเอกสารทางธุรกรรมของลูกค้ามากมายเท่าไหร่ ไหนจะเรื่องของการดูแลสภาพตู้ ATM ต่างๆ อีก แล้วงบประมาณที่ใช้พิมพ์ธนบัตรในแต่ละปีก็ไม่ใช่ถูกๆ เลย

การเป็นสังคมไร้เงินสด ก็จะช่วยทำให้ธนาคารประหยัดต้นทุนมากขึ้น และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย

สังคมไร้เงินสด

สังคมไร้เงินสด ทำให้คนเป็นหนี้ง่ายขึ้น

ทุกๆ อย่างมักจะมี 2 ด้านเสมอ ถึงแม้การเป็นสังคมไร้เงินสดจะมีข้อดีของมัน แต่มันก็ยังมีข้อเสียที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยค่ะ อย่างแรกเลย คือ เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เมื่อคุณทำธุรกรรมใดก็ตามในโลกออนไลน์ ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลธุรกรรมของคุณก็จะถูกบันทึกเก็บไว้เช่นกัน หากข้อมูลส่วนนี้รั่วไหลหรือเกิดการโจรกรรมขึ้นมา คงไม่เป็นผลดีแน่ๆ

และอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของ Cashless Society คือ มันจะทำให้เราเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้นค่ะ

ยิ่งไม่ใช้เงินสด เรายิ่งเป็นหนี้ง่ายขึ้น!!

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย คือ การใช้บัตรเครดิต  ใครที่ใช้บัตรเครดิตเป็นประจำก็น่าจะรู้ว่ามันสะดวกสบายแค่ไหน แค่รูดปรี๊ดเดียวก็ได้ของสมใจแล้ว และตอนที่รูดบัตรไป เราก็ไม่รู้สึกเดือนร้อนหรอกค่ะ แต่เราจะมานั่งกุมขมับเอาก็ตอนที่ ใบแจ้งหนี้ ส่งมาที่บ้านแทน

แล้วคิดดูนะคะว่า บัตรเครดิตเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในสังคมไร้เงินสดเท่านั้น เพราะช่องทางการ e-payment ในสังคมไร้เงินสดยังมีอีกหลากหลายวิธี อย่าง QR Code, Mobile Banking, e-wallet, Membership Card หรือ Promtpay เป็นต้น

ซึ่งวิธีการพวกนี้ต่างจากบัตรเครดิตตรงที่ว่า มันจะผูกกับบัญชีเงินฝากของเราโดยตรง และเรากำลังใช้เงินเก็บของตัวเองที่มีทั้งหมดนั่นเองค่ะ

ผลวิจัยของ The American Pyschological Association พบว่า สมองของคนเรานั้น จะจดจำการจ่ายเงินแบบที่ใช้เงินสด ได้มากกว่าการจ่ายเงินในรูปแบบอื่น เช่น บัตรเครดิต เป็นต้น

เมื่อเราไม่รู้ตัวเอง ว่าเรากำลังใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เราจะ เป็นหนี้ ได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะ e-payment ช่องทางอื่นๆ มันไม่เหมือนกับบัตรเครดิตที่ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง แต่มันคือการใช้เงินในบัญชีจริงๆ ของเรา เพียงแค่เราไม่ต้องควักธนบัตรออกมาจ่ายตรงๆ เท่านั้นเอง

นอกจากนั้น ช่องทาง e-payment ต่างๆ ก็จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ถึงแม้เราจะใช้จ่ายเงินได้สะดวกมากขึ้น แต่เราก็อาจจะลงเอยด้วยการจ่ายเงินมากขึ้นไปด้วยก็ได้

 

สังคมไร้เงินสด2

เราจะอยู่ในสังคมไร้เงินสดอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดไปแล้ว 41% และถึงแม้ตอนนี้ประเทศไทยจะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการเป็น Cashless Society แต่เราก็เริ่มมีช่องทาง e-payment เกิดขึ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งที่ได้รับความนิยมตอนนี้ น่าจะเป็น Promtpay และ QR Code

แล้วตัวเราเองจะมีวิธีการรับมือและป้องกันตัวเองจากการเป็นหนี้สินในสังคมยุคใหม่นี้ได้อย่างไร? คำตอบก็คือ คุณต้องจำไว้เสมอว่า แค่เราไม่ได้เห็นธนบัตรค่อยๆ หายไปทีละใบในกระเป๋าสตางค์ ไม่ได้แปลว่า เงินในบัญชีของเราไม่ลดลงนะคะ

ซึ่งคำตอบของ ปัญหาหนี้สิน ของสังคมไร้เงินสด มันก็คงจะไม่ต่างจากสังคมตอนนี้มากนักหรอกค่ะ คือ คุณต้องรู้ว่าตัวเองมีกำลังจ่ายได้มากเท่าไหร่ และควบคุมพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองให้เป็น อย่าใช้เงินเกินตัว

เพราะ ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินสด บัตรเครดิต หรือ e-payment ก็ตาม ไม่มีใครที่จะหยุดคุณจากการเป็นหนี้ได้ นอกจากตัวคุณเองค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก finance.rabbit.co.th