ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนคนจีนหลายคนเกี่ยวกับการกระชับอำนาจของท่านผู้นำสี จิ้นผิง ยิ่งได้คุยและแลกเปลี่ยนกัน ก็ทำให้เข้าใจจีนและความหลากหลายของความคิดในจีนมากขึ้น

การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนทั่วไป บางทีก็ช่วยให้เราเข้าใจสังคมหนึ่งได้ดีกว่าการอ่านหนังสือหรือฟังผู้เชี่ยวชาญบรรยายเสียอีกนะครับ แต่แน่นอนว่า การพูดคุยกับเพื่อนชาวจีนของผมก็มีข้อจำกัด เพราะผมได้คุยกับเพื่อนเพียงไม่กี่คน คนที่ผมคุยด้วยจึงไม่อาจเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของคนจีนทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อย เพื่อนจีนกลุ่มเล็กๆ ของผม ก็ช่วยฉายภาพความหลากหลายของมุมมองในจีนได้อย่างชวนคิดทีเดียว

เนื่องจากผมกำลังเรียนอยู่ที่สหรัฐฯ ดังนั้น กลุ่มเพื่อนชาวจีนที่ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย จึงเป็นคนจีนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา รวมทั้งเป็นคนจีนที่น่าจะได้รับอิทธิพลความคิดประชาธิปไตยและเสรีนิยมตะวันตกด้วย ในแง่หนึ่ง เพื่อนจีนของผมจึงไม่อาจเป็นตัวแทนคนรากหญ้าในจีนได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง เพื่อนจีนเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อไปในสังคมจีน รวมทั้งมุมมองของพวกเขาในการเปรียบเทียบระบบของจีนและระบบของฝรั่ง ก็น่าสนใจมาก

ผมขอเลือกเล่ามุมมองเรื่องการเมืองจีนของเพื่อนชาวจีน 4 คน ซึ่งแตกต่างกันมาก โดยชื่อของเพื่อนที่ผมใช้ในบทความล้วนเป็นชื่อสมมติ แต่ความเห็นทั้งหมดนั้น เป็นความเห็นที่หลากหลายของคนจีนรุ่นใหม่ที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสจริงๆ

มุมมอง #1: “ไม่แคร์” เพราะการเมืองจีนเป็นเรื่องไกลตัว

เมื่อถามความรู้สึกต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้สี จิ้นผิง เป็นผู้นำตลอดชีวิต “เสี่ยวหยาง” เพื่อนจีนคนแรกที่ผมคุยด้วยตอบว่า เขาไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย เพราะเขาไม่สนใจการเมืองอยู่แล้ว การเมืองจีนเป็นเรื่องไกลตัวเขาเหลือเกิน

เขาบอกว่า คนจีนทั่วไปสนใจปากท้องเป็นอันดับแรก ขอแค่เศรษฐกิจไปได้ดี ทำมาหากินได้ อย่างตัวเขาเอง ก็สนใจการเรียนในปัจจุบัน สนใจว่าจะหางานหาโอกาสสร้างตัวต่อไปหลังเรียนจบอย่างไร คนจีนทั่วไปมีแรงกดดันในการแข่งขันสูงมาก เพราะประชากรจำนวนมหาศาล ดังนั้น แค่เพียงความกดดันในเรื่องการเรียนและการงานก็ปากกัดตีนถีบจะแย่อยู่แล้ว ชีวิตไม่มีเวลามาสนใจการเมืองหรอก

เขาไม่รู้จะสนใจการเมืองไปทำไม ในเมื่อไม่มีพื้นที่ให้วิจารณ์ ถึงแม้เขาอาจโพสต์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลได้ แต่เขาไม่สามารถโพสต์วิจารณ์ตัวผู้นำได้ ถ้าโพสต์ด่าท่านประธานสี จิ้นผิง ในโซเชียลมีเดีย ก็อาจถูกลบข้อความออกได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าทางการเห็นว่าเป็นคนหัวรุนแรงทางการเมืองหรือเป็นปฏิปักษ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อไปก็อาจถูกจับตา ไปจนถึงถูกกลั่นแกล้งได้ ไม่มีผลดีอะไรเลย

นอกจากนั้น เขายังไม่รู้จะวิจารณ์อะไรด้วย เพราะไม่มีข้อมูล การเมืองจีนเป็นเหมือน “กล่องดำ” การต่อสู้ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ล้วนเป็นเรื่องที่คนภายนอกไม่มีทางรับรู้ ข่าวที่ออกมาล้วนเป็นผลจากการต่อสู้ภายใน จนได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว เวลาดูข่าวเมืองจีน จะไม่มีผู้โต้แย้งใดๆ จนรู้สึกเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์สามัคคีเหลือเกิน แต่เขาเชื่อว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ก็คงมีการเมืองและการต่อสู้ของกลุ่มก้อนการเมืองที่ดุเดือนเลือดพล่าน ราวสงครามโค่นชิงบัลลังก์ในหนังจีนนั่นแหละ เพียงแต่ไม่เป็นข่าว ส่วนที่คนเอามาซุบซิบกัน ก็ล้วนเป็นข่าวลือ เชื่อถือไม่ค่อยจะได้ เมื่อไม่รู้อะไรเกี่ยวกับผู้นำและการเมืองจีนสักเท่าไร แล้วจะให้วิจารณ์อะไร

เขาบอกว่า คนจีนทั่วไปรู้สึกว่า ในช่วงการนำของสี จิ้นผิง การเมืองมีเสถียรภาพ ประชาชนมีทางทำมาหากิน เศรษฐกิจไปได้ดีไม่มีสะดุด ถือว่าที่ผ่านมา รัฐบาลก็ทำงานได้ดี จึงไม่มีใครรู้สึกว่ามีเหตุผลอะไรจะต้องไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ ส่วนการกระชับอำนาจของสี จิ้นผิง ก็เป็นเรื่องการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์ เขาสนใจมากกว่าว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ปัญหาต่างๆ ของจีนอย่างไร เขาสนใจนโยบายของรัฐบาล เพราะส่งผลต่อชีวิตและการงานของเขา แต่เขาไม่รู้สึกสนใจตัวบุคคลของผู้นำ เพราะเขาเองยังไงก็ไม่มีสิทธิเลือกอยู่แล้ว

มุมมอง #2: “อึดอัด” เพราะสังคมจีนเป็นภาพมายา

“เสี่ยวฮุ่ย” ดูจะเป็นเพื่อนจีนที่หัวก้าวหน้าที่สุดซึ่งผมได้พูดคุยด้วย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเธอทำวิจัยเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เธอก็เลือกทำเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองมากสักเท่าไร เธอบอกว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนสนับสนุนเรื่องสิทธิสตรีอยู่แล้ว แต่ถ้าเธอเลือกทำเรื่องสิทธิทางการเมือง ชีวิตเธอในจีนคงลำบากมาก

เธอยอมรับว่า รู้สึกอึดอัดกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในจีน และคิดเสมอว่า เราจะอยู่กันอย่างนี้จริงๆ หรือ? เพราะสังคมจีนเป็นเหมือนภาพมายา เนื่องจากรัฐบาลจีนคุมสื่ออย่างเคร่งครัด ข่าวที่ออกมาในเมืองจีนจึงล้วนแต่เป็นข่าวดี ข่าวความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ข่าวนโยบาย มาตรการ และความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาล แต่ปัญหาต่างๆ นานาในจีนล้วนถูกซ่อนอยู่ใต้พรม ไม่มีการรายงาน ไม่มีใครรู้ ข่าวทางการล้วนเป็นเสียงเชิงบวกเหมือนกันหมด เธอชวนให้ผมลองอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์จีนเรื่องการครองอำนาจต่อของสี จิ้นผิง แล้วจะพบว่ามีแต่ข่าวเชียร์ท่านผู้นำทั้งสิ้น

เธอยอมรับว่า คนจีนส่วนใหญ่ชอบผู้นำที่แข็งแกร่ง ถ้าถามคนทั่วไป ก็จะนิยมชมชอบสี จิ้นผิง และรู้สึกว่าก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดีหู จินเทา เป็นผู้นำที่อ่อนแอ แต่เธอยืนยันว่า ถ้าคุยกับปัญญาชน รวมทั้งคนจีนหัวก้าวหน้า ย่อมจะรู้สึกว่าจีนกำลังถอยหลังลงคลองในเรื่องพัฒนาการทางการเมือง เพราะสี จิ้นผิง จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากกว่าผู้นำคนก่อนๆ ถ้าใครถูกหมายหัวว่า เป็นศัตรูหรืออาจสร้างปัญหาให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ก็อาจถูกอุ้มหายตัวไปได้ง่ายๆ

เธอเล่าว่า ในกลุ่มคนหัวก้าวหน้าในจีน เคยมีคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะพยายามปฏิรูปการเมืองภายใต้ระบบปัจจุบัน เช่น ค่อยๆ เปิดให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น หรือการปฏิรูปการเมืองที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริงจำเป็นต้องล้มพรรคคอมมิวนิสต์ลงเสียก่อน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อผู้คนและเกิดความยุ่งเหยิงมาก แต่ตอนนี้ดูไม่น่าเป็นไปได้ทั้งสองทาง พรรคคอมมิวนิสต์นับวันกลับยิ่งจัดการศัตรูทางการเมืองอย่างดุดันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากคนจีนโดยทั่วไปด้วย ถ้าถามคนจีนตอนนี้ เผลอๆ หลายคนจะเห็นว่า ระบบของจีนดีกว่าประชาธิปไตยฝรั่งด้วยซ้ำ ยิ่งดูความโง่แกมบ้าของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือปัญหาความยุ่งเหยิงของการเมืองประชาธิปไตยในไต้หวัน คนจีนทั่วไปคงรู้สึกว่าระบบของจีนดีกว่า สามารถแก้ปัญหาปากท้อง รักษาเสถียรภาพทางสังคมได้ ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง แล้วจะต้องการเสรีภาพทางการเมืองไปเพื่ออะไร?

มุมมอง #3: “รับได้” เพราะระบบจีนเหมาะกับสังคมจีน

“เสี่ยวฟ่าน” เพื่อนจีนอีกคนของผม เหมือนกับคนจีนที่มาเรียนเมืองนอกโดยทั่วไป ซึ่งมักพยายามตอบเรื่องการเมืองจีนแบบกลางๆ ประมาณว่า ระบบจีนก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย แต่โดยรวม เธอก็มองว่าระบบแบบนี้เหมาะกับเมืองจีน

ผมเล่าให้เสี่ยวฟ่านฟังว่า ตอนนี้เมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงไม่ปกติ และเรากำลังพยายามจะกลับเข้าสู่โหมดปกติคือการเลือกตั้ง เธอถามผมว่า คนไทยทั่วไปรู้สึกว่าตอนนี้ไม่ปกติเพราะอะไร ผมตอบว่า เพราะพวกเราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเรื่องคุณค่าของระบบประชาธิปไตย เสี่ยวฟ่านบอกว่าคำตอบของผมชวนให้เธอคิดว่า การปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองดูจะส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนมาก คนจีนเองนั้นตรงกันข้าม เพราะตั้งแต่เด็กก็ได้รับการปลูกฝังว่า มีระบบอย่างนี้ที่เหมาะสมกับจีน มีทฤษฎีลัทธิอุดมการณ์มาร์กซิสต์เลนินรองรับ มีประวัติศาสตร์การต่อสู้สร้างชาติที่น่าภูมิใจ เธอและคนจีนทั่วไปก็จะรู้สึกว่า การนำของพรรคคอมมิวนิสต์นี่แหละเป็นเรื่องปกติ เมืองจีนต้องปกครองแบบนี้ ถ้าเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยเมื่อไร นั่นแหละคือภาวะไม่ปกติ และจะนำไปสู่ความวุ่นวาย

เธอบอกว่า การปกครองแบบเผด็จการพรรคเดียว ถือว่าเหมาะกับจีน เพราะเป็นประเทศใหญ่ คนมาก ถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไรก็คงวุ่นวายแน่ คนจีนหลายคนกลัวว่าประเทศจีนอาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แบบที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ หรืออาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชนชั้น หากเกิดผู้นำที่ใช้นโยบายประชานิยมเอาใจคนรากหญ้า จนขัดแย้งกับชนชั้นกลางและสูงอย่างในลาตินอเมริกา (เธอยกตัวอย่างลาตินอเมริกา เพราะคงไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองไทย)

คนจีนโดยทั่วไปจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วจะมีหน้าตาอย่างไร และเมื่อจินตนาการไม่ได้และไม่มีทางเลือกอื่นที่ชัดเจน ก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงล้มระบบเดิมที่ดูมีเสถียรภาพเช่นในปัจจุบัน

เสี่ยวฟ่านบอกผมว่า ระบบของจีนเหมือนระบบราชการขนาดใหญ่มากกว่าระบบเผด็จการ โดยกว่าจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำจีน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ อย่างสี จิ้นผิง เองก็ต้องค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ให้หลากหลาย เริ่มทำงานตั้งแต่ระดับชนบทค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา ผู้นำส่วนกลางต้องเคยผ่านงานทั้งในมณฑลที่ยากจนและมณฑลที่เจริญ แถมต้องเคยมีประสบการณ์บริหารรัฐวิสาหกิจด้วย ดังนั้น เธอจึงรู้สึกว่า ผู้นำจีนเข้าใจความซับซ้อนของสังคมจีน รวมทั้งเข้าใจชนชั้นรากหญ้าด้วย เผลอๆ อาจเข้าใจสังคมมากกว่าผู้นำในประเทศที่มีการเลือกตั้งอีก เธอยกตัวอย่างว่า ผู้นำในสหรัฐฯ ที่มีพื้นเพมาจากชนชั้นสูงและชนะเลือกตั้ง เผลอๆ จะไม่เข้าใจชนบทสหรัฐฯ เลย สำหรับเธอแล้ว ผู้นำที่อ่อนประสบการณ์อย่างโอบามา หรือผู้นำที่เป็นดารานักธุรกิจอย่างทรัมป์ ล้วนมีคุณสมบัติสู้ผู้นำจีนอย่างสี จิ้นผิง ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในพื้นที่ต่างๆ มาอย่างยาวนานไม่ได้

มุมมอง #4: “รักเลย” เพราะชอบใจท่านประธานสี

ส่วนเพื่อนคนสุดท้ายของผม “เสี่ยวปิง” ถือเป็นแฟนคลับพรรคคอมมิวนิสต์และท่านประธานสี เขาดีใจมากกับข่าวการต่ออายุให้สี จิ้นผิง เป็นผู้นำโดยไม่มีกำหนด เขาบอกว่า กว่าจะเจอผู้นำที่โดดเด่นและทำงานได้ดีสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเจอแล้ว มีเหตุผลอะไรต้องไปจำกัดวาระเขาด้วย

เสี่ยวปิงให้เหตุผลว่า ที่ต้องต่ออายุให้สี จิ้นผิง เพราะดูแล้วไม่มีผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทัดเทียม ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ทำงานได้ดีและได้ใจประชาชน อย่างแรก คือ สี จิ้นผิง ตอบสนองความรู้สึกชาตินิยมของคนจีน คนจีนเริ่มรู้สึกว่า ตอนนี้จีนก็เริ่มแข็งแกร่งแล้ว ทำไมต้องไปตามก้นฝรั่งอีก ควรจะหันมาเล่นบทนำในเวทีโลกให้มากขึ้น และภูมิใจในระบบของตัวเอง ซึ่งสี จิ้นผิง เองโดดเด่นมากในเวทีโลก

ส่วนอีกเรื่องก็คือ การปราบคอร์รัปชัน ซึ่งคนจีนทุกคนล้วนสัมผัสได้เลยว่า เจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนไปจริงๆ สมัยก่อน ถ้าไม่ใส่ซองจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ได้รับบริการ เดี๋ยวนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่จะไม่กล้ารับซองแล้ว ยังตั้งใจบริการประชาชนอย่างดีอีกด้วย นอกจากนั้น พวกคนที่โกงหรือรวยผิดปกติ ก็ถูกจับติดคุกมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

แม้ว่าเสี่ยวปิงจะเป็นแฟนคลับสี จิ้นผิง แต่เขายืนยันกับผมว่า เขาไม่ได้บูชาสี จิ้นผิง เหมือนกับที่คนจีนสมัยก่อนบูชาประธานเหมา และจีนหมดยุคบูชาผู้นำแบบนั้นแล้ว คนจีนเองไม่มีใครเห็นสี จิ้นผิง เป็นพระเจ้า ทุกคนมองเพียงแค่ว่า นี่เป็นผู้นำที่เก่งและมีความสามารถสูง

เขาให้ความเห็นที่น่าสนใจมากว่า ภายหลังจากความวิบัติจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยประธานเหมา คนจีนเดี๋ยวนี้เลิกสนใจลัทธิอุดมการณ์แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสนใจจะเถียงเรื่องจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เรื่องจะเป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยม เพราะการบ้าบูชาลัทธิอุดมการณ์ในช่วงสมัยเหมาเจ๋อตงเคยนำไปสู่ความบ้าคลั่ง ความไร้เสถียรภาพ และความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าดู “ความคิดของสี จิ้นผิง” (ที่เพิ่งบรรจุในรัฐธรรมนูญ) นอกจากเรื่องที่เน้นการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ความคิดที่เหลือล้วนเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ปัญหาจริงของจีน เช่น คอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ไม่มีเนื้อหาตรงไหนที่ปลุกผีอุดมการณ์แบบสมัยประธานเหมาอีก

สรุป: จุดร่วมของความหลากหลาย

ความเห็น 4 มุมมองข้างต้น อาจช่วยตอบข้อสงสัยของหลายคนว่า คนจีนยอมรับเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร? และคนจีนมองการกระชับอำนาจของสี จิ้นผิง อย่างไร? ซึ่งก็จะเห็นว่า มีทั้งคนที่เฉยๆ คนที่มองในเชิงลบว่านี่เป็นการถอยหลังลงคลอง และคนที่มองในเชิงบวกว่านี่เป็นเรื่องที่น่ายินดี

แต่ทั้ง 4 มุมมอง ก็มีจุดร่วมกัน นั่นคือ ความรู้สึกแพร่หลายทั่วไปในจีนว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนทั่วไป หมดยุคอุดมการณ์ทางการเมือง และมองไม่เห็นความหวัง (และไม่มีใครหวัง) ที่จะมีเสรีภาพทางการเมือง ขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ ทุกคนก็ยอมรับว่า ประเทศจีนดูเหมือนจะไปได้สวย รวยวันรวยคืน

นี่จึงกลายเป็นความย้อนแย้ง น่ายินดีและน่าเศร้ากับประเทศจีนไปพร้อมกัน ประเทศที่รวย แต่ไม่ต้องการเสรีภาพ บางทีก็น่าคิดนะครับว่า ถ้าเป็นเรา อยากจะอยู่ในสังคมแบบนั้นไหม?

เสี่ยวหยาง ผู้ไม่สนใจการเมืองเลย หวังว่าจะหางานทำในสหรัฐฯ เพราะยอมรับว่าชอบบรรยากาศเสรีของที่นี่ แม้เขาจะยอมรับว่า เป็นคนชั้นกลางในจีนดูจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าคนชั้นกลางในสหรัฐฯ (ยกเว้นเรื่องเดียวคือ ค่าเช่าบ้านในจีนที่สูงมาก) แต่เรื่องอื่นๆ ค่าครองชีพในสหรัฐฯ สูงกว่ามาก

เสี่ยวฮุ่ย ผู้อึดอัดกับภาพมายาของความเจริญในจีน ตั้งใจจะแต่งงานและตั้งรกรากในสหรัฐฯ ตั้งแต่มาอยู่ที่สหรัฐฯ เธอมีความรู้สึกว่า เธอได้ออกมาจากกะลา และเริ่มเห็นด้านมืดมากมายของจีน

เสี่ยวฟ่าน ผู้รับได้เพราะระบบจีนเหมาะกับจีน บอกว่าเธอพร้อมอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่ได้งานดี เงินดี

ส่วนเสี่ยวปิง แฟนคลับพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งใจจะกลับจีนหลังเรียนจบ เพราะเห็นว่าโอกาสอยู่ที่นั่น และโลกกำลังจะกลับมาหมุนรอบจีน

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org