เคยไหมครับ เวลาทำงานกับคนนั่งข้างๆ หรือแม้แต่หัวหน้าเรา เรารู้สึกว่าสไตล์การทำงานไม่เข้ากัน ผิดหวัง ทำไมต้องด่ากันด้วย แล้วเกิดอารมณ์ว่าเราอยากให้เค้าทำงานในแบบของเราหรือทำแบบนู้น แบบนี้ แบบนั้น จริงๆ แล้วคนเหล่านั้นไม่ผิดนะครับที่ทำงานคนละแบบ หรือคิดไม่เหมือนเรา วันนี้ผมอยากชวนทุกคนลองเปลี่ยนมุมมองกับคนเหล่านั้นดูไหมครับ ทุกท่านลองระลึกถึงตอนสมัยทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยดูครับ เห็นเพื่อนหลายแบบไหมครับ ผมเจอเพื่อนมาหมดทุกรูปแบบทั้งเพื่อนขี้เม้าท์เม้าท์ได้ตั้งแต่เพื่อนสนิทยันคณบดี เพื่อนสุดเนี้ยบที่ไม่ว่าจะไปไหนต้องสวยเพอร์เฟกต์กระเป๋าห้ามซ้ำทุกเดือน เพื่อนสุดไฮโซสุดเว่อร์นั่งแท๊กซี่ไปยังอีกที่ที่ห่างกันเพียงร้อยเมตร แล้วลองนึกดูสิครับว่าเวลาเราทำงานกลุ่มเราจัดการทำกันอย่างไร แกไม่ต้องทำอะไรนอกจากพิมพ์ แกออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดนะ แกออกไปพรีเซนต์หน้าห้องเลยนะ แกลองไปสรุปๆ งานมาดู จากเมื่อ 20 ปีก่อนที่ผมเรียนจนตอนนี้ได้มาสอนหนังสือภาพเหล่านี้ยังไม่เปลี่ยนเลยครับ ลูกศิษย์ผมหลายคนยังทำรายงานกันแบบนี้อยู่

ทีนี้ลองกลับมาเรื่องที่ทำงานบ้าง ส่วนตัวผมเคยทำงานในองค์กรทั้งใหญ่และเล็กหลายแห่งในประเทศไทย เวลาผมจะเจอเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือ แม้แต่ลูกค้า ผมจะประเมินก่อนเลยว่าลักษณะการทำงานของพวกเขาเหล่านั้นเป็นแบบไหน บอกเลยนะครับมีคนบางประเภทที่ผมแพ้ทางอยู่ จากนี้ผมขออธิบายแบบทฤษฎีจ๋าๆ เลยนะครับว่าผมใช้หลักอะไรในการประเมินคนรอบตัว สมัยก่อนมีนักจิตวิทยาสังคมชาวฟินแลนด์ชื่อ ดร. วิลเลียม มาร์สตัน พยายามอธิบายว่าบุคลิกของมนุษย์ประกอบไปด้วย 4 เรื่องใหญ่ และมีการประยุกต์ใช้ในการอธิบายคนในที่ทำงาน ซึ่งผมเห็นด้วยมาก และสามารถอธิบายพฤติกรรมคนในที่ทำงานได้จริงๆ

1) Dominant คนกลุ่มแรกนี้ครับเป็นคนในจำพวกพวก Bossy และเอาแต่ใจ (บ้างเล็กน้อย) ชอบสั่งการเน้นผลลัพธ์การทำงาน อาจไม่ได้ดูในรายละเอียดของงานมากนัก แต่จะเข้าใจวัตถุประสงค์หลัก และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ได้สั่งการลงไป โดยจะคอย Monitor สิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่ต้องการ ลักษณะของคนกลุ่มนี้ชัดเจนมากครับว่าจะเป็นคนที่ทำงานในระดับสูง จินตนาการดูถึงท่านนายกของเราครับตรงเป๊ะกับคาแรกเตอร์ของกลุ่มนี้

2) Inspiring คนกลุ่มสองนี้จะเป็นพวกสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างที่ทำงานด้วยกัน บุคลิกหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเลยคือคนกลุ่มนี้จะมีจินตนาการค่อนข้างสูง และให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึกของคนรอบข้าง หรือชอบพูดปะกับคนอื่นๆ พรีเซนต์เก่ง รวมไปคอยเสริมให้กำลังใจคนรอบข้างให้ทำงาน ถ้านึกๆ ลองดูคนๆ นี้มักจะมีอยู่ในแผนกของคุณอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นที่พึ่งทางใจของคนในกลุ่ม ก็จะเป็นคนที่ชอบคิดอะไรแหวกแนว คุณสามารถเข้าไปขอไอเดียใหม่ๆ จากเขาได้เลย ถ้าให้เปรียบผมจะนึกถึงท่านอดีตนายกหญิงของเราท่านมีคาแรกเตอร์ประมาณนี้เลยครับ

3) Steady คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ตามที่ดีครับ และต้องการคำสั่งที่ชัดเจนแบบบอกเลยครับว่าคุณเริ่มจาก 1 2 ไปสู่ 3 เป็นลำดับขั้นไปเลยยิ่งดี เวลาคุณเจอกับคนกลุ่มนี้การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก เขาอาจจะไม่ต้องการรู้ว่างานต่างๆ ทำไปเพื่ออะไรในตอนจบ แต่สุดท้ายอยากรู้ว่างาน (ที่จับต้องได้) มีอะไรบ้าง อย่าไปบอกอะไรที่เป็นนามธรรม หรือออกนอกกรอบมากครับ บางครั้งจะมีการต่อต้านออกมาผ่านสีหน้าท่าทาง หรือปฏิเสธไม่ทำงาน คนกลุ่มนี้จะเหมาะกับงานในแบบ Operation ผมมักจะเรียกว่าเป็นผึ้งงาน

4) Cautions คนกลุ่มสุดท้ายจะเป็นคนที่ผมเรียกว่าเป็นคุณนายละเอียดครับ คอยดูทุกเรื่องให้เป็นไปตำรา หรือตามข้อกำหนดต่างๆ การทำงานของคนกลุ่มนี้จะไม่ยืดหยุ่นมากนัก จะคอยดูรายละเอียดต่างๆ มากกว่าผลลัพธ์ โดยเชื่อว่าถ้าเราเที่ยงตรงกับสิ่งที่กำหนด หรือวางระเบียบ ผลลัพธ์ทุกอย่างจะออกมากดี เคยไหมครับว่าเราไปส่งงานหัวหน้าบางคน สิ่งที่คอมเม้นต์กลับมาจะไม่ใช่เนื้อหางาน หรือข้อเสนอแนะที่ทำให้งานออกมาดี แต่กลายเป็นตรวจสะกดคำผิด ตรวจแกรมม่า หรือตรวจการจัดหน้ารายงานต่างๆ อาชีพที่คนกลุ่มนี้จะทำพวกงาน Audit งานด้านกฎหมาย หรืองานด้านบัญชีที่ความผิดพลาดเป็นสิ่งรับไม่ได้

ทีนี้เรารู้แล้วว่าที่ทำงานเรามีคนทั้งสี่แบบนี้ในออฟฟิศ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคงไม่ใช่เพียงเข้าใจการมีอยู่ของคน 4 ประเภท แต่สำคัญที่เรื่องการทำความเข้าใจ และปรับตัวของเราให้เข้ากับพวกเขาครับ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่พบปะกับคนเหล่านี้ ย้ำนะครับผมให้ความสำคัญกับคำว่า “เข้าใจ” กับคนรอบข้าง ไม่มีใครที่จะทำงานในทุกเรื่องสมบูรณ์แบบ 100% แต่ขึ้นอยู่กับเราจะดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของเขามาได้อย่างไร หรือวางตำแหน่งของเขาได้ตรงตามความชำนาญของหรือไม่ ลองจินตนาการนะครับเราให้คนกลุ่ม Inspiring ไปตรวจงานแบบที่คนกลุ่ม Cations ทำบอกเลยครับว่าเละ หรือให้คนแบบ Steady ไปสั่งการคนอื่นๆ แบบคน Dominant ก็งงกันไปใหญ่ครับ รวมไปถึงนะครับการเลือกคนมาในองค์กรเราจะเลือกคนกลุ่มไหนมาเป็นหลักในองค์กรเพื่อสร้างวัฒนธรรมในองค์กร เหมือนการเลือกเครื่องปรุงว่าจะทำให้ให้องค์กรของคุณกลมกล่อมที่สุดแล้วแต่ที่คุณจะเลือกเลยครับ

ดร.วสุพล ตรีโสภากุล (เอก)

Human Director และ Managing Director

บรืษัทยูรีเสิร์ช คอนซัลติ้ง แอนด์ พาร์ทเนอร์ริ่ง