ในอดีตการเลี้ยงวัวนมไม่ใช่อาชีพที่คนไทยคุ้นเคยมากนัก ทำให้นมสดไม่ใช่สิ่งที่คนไทยบริโภคกันอย่างแพร่หลาย และมักดื่มกันแต่ในกลุ่มคนมีฐานะเท่านั้น

         เมื่อ พ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลา 6 เดือนซึ่งในยุคนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็นไทยจึงจำเป็นต้องสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เพื่อแสดงว่าไทยเป็นมิตรกับโลกเสรี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำความรู้จากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ในประเทศไทยด้วย เมื่อพระองค์ทรงเยือนประเทศเดนมาร์กพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยกิจการเลี้ยงโคนมของที่นี่และทรงเห็นว่าการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มั่นคงและสามารถช่วยให้คนไทยมีนมไว้ดื่มกิน ซึ่งหากประเทศไทยมีการเลี้ยงโคนมก็จะมีอาหารคุณภาพที่ดีเพิ่มขึ้นมาอีกเพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชนอีกทาง

       โดยสมัยนั้นการเลี้ยงโคนมในไทยยังจำกัดอยู่ในชุมชนชาวอินเดียกลุ่มเล็กๆ ด้วยพระราชดำริของพระองค์ ทำให้ในปีถัดมา ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก จึงถือกำเนิดขึ้นที่อำเภอมวกเหล็กจังหวัดสระบุรี ถือเป็นฟาร์มโคนมแห่งแรกของประเทศไทย หลังรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย

        ต่อมาในปีพ.ศ. 2505 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างโรงโคนมสวนจิตรลดาขึ้นในเขตพระราชฐาน เพื่อทดลอง ปรับปรุงสายพันธุ์วัวให้เข้ากับอากาศร้อนของประเทศไทย พร้อมเผยแพร่วิชาการเลี้ยงวัวนม โดยในหลวงร.9 ทรงให้ปลูกหญ้าและพืชไว้เป็นอาหารวัวเพราะเป็นวิธีเลี้ยงที่ประหยัดและเหมาะกับเกษตรกรในชนบท

        นอกจากการให้วิชาความรู้การเลี้ยงวัวนมการตั้งโรงโคนมแห่งนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนดื่มนมสดโดยมีการนำนมวัวไปจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูกอีกด้วย นับแต่นั้นมาการเลี้ยงโคนมในเมืองไทยจึงกลายเป็นตัวเลือกใหม่ของเกษตรกร

        ต่อมาในปี 2509 เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดเพราะไม่มีโรงงานแปรรูปและจำนวนคนดื่มไม่มากพอกับน้ำนมที่ผลิตออกมา เมื่อพบปัญหาในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งโรงนมผงสวนดุสิต โรงงานผลิตนมผงแห่งแรกของไทยเพื่อแปรรูปนม เป็นการแก้ปัญหา หลังจากนั้นยังมีการตั้งโรงงานแปรรูปนมอื่นๆ เพิ่มบนพื้นที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา อาทิ นมอัดเม็ด,เนยแข็ง,นมยูเอชที ไปจนถึงโรงน้ำดื่มซึ่งผลิตจากน้ำที่เหลือจากกระบวนการระเหยนม เป็นการสาธิตผลิตนมแบบครบวงจร 

        นอกจากนี้ในหลวงรัชกาลที่9 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ก่อตั้งโรงนมผงหนองโพที่จังหวัดราชบุรี เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด โดยต่อมาที่แห่งนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด และมีนมสดชั่งหัวมันซึ่งเป็นผลผลิตมาจากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ

        ดังนั้นการเลี้ยงโคนมจึงถือเป็น"อาชีพพระราชทาน" ที่ในหลวงรัชการที่9 ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยเพื่อสร้างอาชีพ ให้เกิดน้ำนมคุณภาพดีให้ชาวไทยดื่ม เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงสืบไป

ขอบคุณภาพจาก Google