หลายๆคนคงอึดอัดกับบรรยากาศเงียบเหงาของตลาดหุ้นไทยที่ยังไม่มีทิศทางที่แน่นอนซะที  ตั้งแต่ต้นปี 2560 ดัชนีตลาดหุ้นไทยวิ่งอยู่ในกรอบ 1530-1600 จุด  ต่างจากตลาดต่างประเทศที่มีทิศทางการปรับขึ้นลงที่ชัดเจนกว่ามาก  แต่เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาดัชนี SET มีการเคลื่อนไหวที่น่าตกใจคือ สามารถทะลุกรอบ 1600 ขึ้นมาปิด ณ สิ้นวันที่ 1613 จุดได้ พร้อมมูลค่าการซื้อขาย 96,000 ล้านบาท เยอะที่สุดในรอบปี


กำไรสุทธิรวมของตลาดมีผลต่อดัชนีหุ้น หรือไม่ ?

            อย่างที่ทราบกันโดยหลักการทั่วไปว่ารายได้และกำไรของบริษัท ย่อมเป็นตัวผลักดันให้บริษัทมีการเติบโตทั้งในแง่การดำเนินงานทางธุรกิจและราคาหุ้นในตลาดหุ้น TerraBKK Research จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลกำไรสุทธิรวมของตลาดหลักทรัพย์มาเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของดัชนี  SET ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา


            จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิรวมของตลาดจะเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีแทบจะตลอดเวลาในระยะยาว  อาจจะมีแค่บางช่วงที่กำไรรวมขึ้นสูง แต่ดัชนี SET ไม่ได้เคลื่อนตามเช่นในช่วงปี 2004-2006  ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่กำไรในระยะยาวเริ่มหดตัว และอีกส่วนหนึ่งคือความวุ่นวายจากการก่อการร้ายทั่วโลก ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศ  ทำให้ดัชนีมีความผันผวนในระยะหนึ่ง  แต่โดยภาพรวมก็สามารถสรุปได้ว่าตัวเลขกำไรนั้นเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดสามารถขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

*กำไรสุทธิรวมของตลาด คือ กำไรสุทธิรวมจากบริษัทจดทะเบียนใน SET ทั้ง 8 หมวดอุตสาหกรรม
*EPS คือ ส่วนของกําไรสุทธิที่แบ่งเฉลี่ยแก่หุ้นสามัญแต่ละหุ้น มีสูตรคํานวณดังนี้
กําไรต่อหุ้น = กําไรสุทธิของบริษัท / จํานวนหุ้นสามัญที่เรียกชําระแล้วของบริษัท

 
            ซึ่งเมื่อนำข้อมูลกำไรต่อหุ้น 8 เดือนของปี 2017 เข้ามาประกอบ ก็พบว่าปัจจุบันกำไรต่อหุ้นของปี 2017 เท่ากับ 95.48 ก็มากกว่ากำไรต่อหุ้น ณ สิ้นปีของปี 2016 เท่ากับ 93.71 ไปแล้วนิดหน่อย  เป็นไปได้ว่าสิ้นปีนี้ อาจได้เห็น กำไรรวมของตลาดเพิ่มมากขึ้นไปอีก และเมื่อลองมาดูตัวเลขกำไรแบบเจาะลึกเป็นรายไตรมาสกับรายครึ่งปีจะเห็นว่าเมื่อเทียบปี 2559 กับ 2560 ในไตรมาสแรกจะโตจาก 234,000 ล้านบาทเป็น 284,000 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 20% ส่วนตัวเลขครึ่งปีแรกโตจาก 489,000 ล้านบาทเป็น 516,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 5% ซึ่งไม่มากนัก  ดังนั้นถ้าดัชนี SET ในปีนี้จะไปต่อได้ก็ต้องหวังให้ตัวเลขกำไรของครึ่งปีหลังออกมาดี  ซึ่งการที่ดัชนีสามารถทะลุกรอบ 1600 ขึ้นไปได้นี้ก็แสดงถึงมุมมองของนักลงทุนในทางบวกต่อช่วงครึ่งปีหลัง เพราะในช่วงปลายปีก็จะเป็นช่วง High Season ที่มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภค บริโภค และการใช้จ่ายท่องเที่ยว ประกอบกับข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติพบว่ามียอดซื้อสุทธิเข้ามาติดต่อกันถึง 5 วัน (29 ส.ค.-4 ก.ย.60) มูลค่ารวมประมาณ 8,400 ล้านบาท ทั้ง ๆที่ทั้งปีมานี้ ( 4 ม.ค.-28 ส.ค.60) ยังเป็นการขายสุทธิระดับ 4,600 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับเป็นบวก 3,800 พันล้านบาท สะท้อนถึงเม็ดเงินของต่างชาติที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย


กลุ่มอุตสาหกรรมใด ยังน่าสนใจ บ้าง ?

            เรายังมาดูต่อว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่มีกำไรสุทธิเติบโตในช่วงสองปีนี้อย่างชัดเจน โดยเปรียบเทียบข้อมูลกำไรสุทธิตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในรายสามเดือนและครึ่งปีจากปี 2558-2560 จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตโดดเด่นคือ กลุ่มพลังงาน ซึ่งเติบโตถึง 50% ในสองปี และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งเติบโต 50% เช่นกันในรายครึ่งปี ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เป็นหลัก

            กลุ่มหุ้นที่มีกำไรต่อหุ้นเติบโตได้ย่างต่อเนื่องในกลุ่มพลังงานจะประกอบไปด้วย SPCG และ TOP ส่วนในกลุ่มปิโตรเคมีละเคมีภัณฑ์ได้แก่ IVL


            ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตัวเลขกำไรยังค่อนข้างคงที่คือกลุ่มการเงินกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ซึ่งถ้าสองกลุ่มนี้มีตัวเลขกำไรที่ดีขึ้นย่อมเป็นแรงสนับสนุนที่ดีให้กับตลาดโดยรวม เริ่มจากกลุ่มธนาคารนั้นปัจจัยหลักที่ยังฉุดรั้งการเติบโตและทำให้เกิดความกังวลต่อการขยายธุรกิจของธนาคารในประเทศไทยก็คือ ตัวเลข NPL (Non-Performing Loan)  ซึ่งต้องการนโยบายการจัดการที่ดีจากทั้งภาครัฐและตัวธนาคารเอง  ในส่วนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างตอนนี้ก็มีปัจจัยขับเคลื่อนคือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างทั้งเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่และคมนาคมที่มีมูลค่ารวมหลายแสนล้าน  ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเกิดความต้องการต่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯต่าง ๆเร่งหาพันธมิตรจากต่างประเทศมาร่วมทุนอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงสองปีนี้  หากภาพรวมของบริษัทในสองกลุ่มนี้เริ่มฟื้นตัวไปในทางที่ดีได้ก็จะยิ่งส่งเสริมให้กำไรรวมของตลาดยิ่งดีขึ้น  เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าบริษัทค่อนข้างมาก
*NPL คือ ลูกหนี้การค้าที่สงสัยว่าจะสูญ ไม่สามารถเรียกคืนสินทรัพย์ได้     

SET จะไปได้ถึงไหน ?

            เมื่อเราจะมองว่าหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้นดีมั้ย มีวิธีหนึ่งที่มักใช้กันก็คือเปรียบเทียบกับหุ้นบริษัทอื่นภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน  ตลาดหลักทรัพย์ก็เช่นกันเมื่อเราจะมองความเป็นไปได้ต่าง ก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน  TerraBKK ได้ทำการรวบรวมข้อมูลดัชนีและกำไรต่อหุ้นของประเทศใกล้เคียงได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2004-2016 มาทำการเปรียบเทียบ  จะเห็นได้ว่าลักษณะการเติบโตของกำไรและดัชนีมีความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันมาก และทิศทางของดัชนีที่ผ่านมาก็คล้ายกับตลาดหุ้นของไทยมาก

             เราจึงมาลองดูค่า P/E ของแต่ละตลาด ซึ่งเป็นข้อมูลที่โดยทั่วไปจะใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสะท้อนถึงความถูกหรือแพงของบริษัทหรือตลาดหุ้น และยังช่วยบอกถึงความเป็นไปได้ในการเติบโตอีกด้วย  จะเห็นว่าในรอบ 13 ปีนี้ ทั้งสามตลาดเพื่อนบ้านจะมีดัชนีขึ้นสูงสุดอยู่ในช่วงปี 2013-2016 และค่า P/E ณ ตอนตลาดอยู่จุดสูงสุดของ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย จะเท่ากับ 23.35, 20.48 และ17.59 ตามลำดับ ซึ่ง ณ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 1620 จุด ด้วยค่า P/E เท่ากับ 16.9 เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านที่ไปเทรดกันอยู่ที่อัตรา P/E เกิน 20 ได้  จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นไทยยังจะสามารถขึ้นไปได้ต่อ ถ้ามีปัจจัยหนุนเสริมที่ดีพอ
*P/E ตลาดหุ้นคือ อัตราส่วนของดัชนีตลาดหุ้นกับกำไรต่อหุ้นของตลาดรวม


           ท้ายนี้ TerraBKK  Research มองว่าประเทศไทยนั้นยังไงก็เป็น Emerging Market ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนประเทศหนึ่ง  เพราะยังมีอีกหลายธุรกิจที่สามารถขยายกำลังการผลิตและเติบโตได้ อีกทั้งยังสามารถเติบโตต่อปีได้มากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว  ดังนั้นหากปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆเริ่มฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ  ย่อมจะดึงดูดเม็ดเงินของต่างชาติซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันหลักของตลาดหุ้นให้กลับเข้ามา  แต่ก็ต้องเสริมด้วยปัจจัยด้านความมั่นคงทางการเมืองของประเทศด้วย