ธปท.เผยเดือน มิ.ย. แบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่ 4.6 หมื่นล้าน ทุบสถิติค่าเฉลี่ยในรอบ 5 เดือน เอสเอ็มอีนำโด่ง ย้ำเอ็นพีแอลทรงตัว เปิดทางปล่อยกู้ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมเพิ่ม ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด Q3 โต 6-7% นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวของสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ล่าสุด เมื่อเดือน มิ.ย. ขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งดูเหมือนชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เพราะหากดูจำนวนเม็ดเงินที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ในเดือนนี้ พบว่ามีจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นยอดให้สินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของการให้สินเชื่อใหม่ใน 5 เดือนที่ผ่านมา ที่มีอยู่ที่่ราว 3.7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ใน 3 ประเภทสินเชื่อ กลุ่มที่โตสูงสุดได้แก่ สินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งขยายตัวระดับ 9.1% ตามด้วยสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อรายใหญ่ ที่เติบโต 8.8% และ 3.9% ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเติบโตจากสินเชื่อบ้านเป็นสำคัญ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีถือว่าเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากการช่วยเหลือและส่งเสริมจากสถาบันการเงินในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยพบว่าสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์เดือน มิ.ย. มีอยู่กว่า 10.9 ล้านล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีมียอดคงค้างอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท "การให้กู้ก็ต้องมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ที่มองกันในระยะข้างหน้าคือเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดเมื่อไตรมาส 2 แล้ว และหลังจากนี้จะฟื้นตัวขึ้น ส่วนจะเร็วแค่ไหน มากแค่ไหน ก็ต้องขึ้นกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศเรา" พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ถือว่าการขยายตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และคุณภาพสินเชื่ออยู่ในระดับทรงตัว โดยเอ็นพีแอลเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 2.3% ของสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับเดือน พ.ค.ที่อยู่ที่ 2.4% แม้จะเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนซึ่งอยู่ระดับที่ 2.2% แต่โดยภาพรวมถือว่าสถานะของแบงก์ต่างๆ ก็แข็งแกร่ง มีผลกำไรในระดับสูง อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) สูงถึง 15 เท่า และแบงก์ก็ได้ตั้งสำรองสูงกว่าเอ็นพีแอลปัจจุบันมากแล้ว "ภาพรวมครึ่งปีหลังมีแนวโน้มว่าสินเชื่อไม่น่าจะขยายตัวน้อยกว่าครึ่งปีแรก เพราะเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนเกณฑ์การปล่อยกู้ ถ้ามีผู้ประกอบการมาขอสินเชื่อแบงก์เพิ่มเติม ธปท.ก็ไม่เคยห้ามปล่อยกู้เกินหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่เน้นมาตลอดให้แบงก์ปล่อยกู้โดยให้ดูจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้" ดังนั้น ถ้าการคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตของกิจการยาก แบงก์จึงต้องคิดเผื่อด้วยการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันก็มีกลไกของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ด้วย นอกจากนี้ รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากหลายองค์ประกอบที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไป น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2557 เติบโตได้ในอัตราที่เร่งขึ้น เมื่อพิจารณาในลักษณะไตรมาสต่อไตรมาส หรือคาดว่าจะเติบโตราว 1.6% - 1.8% เทียบกับช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีที่เติบโตได้เพียง 0.5% และ 0.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คาดว่า สินเชื่อในไตรมาส 3/2557 น่าจะเติบโตในช่วงระหว่าง 6-7% ใกล้เคียงกับ ณ สิ้นไตรมาส 2/2557 จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน ขณะที่นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ ผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น และเห็นได้จากยอดค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ "ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังมี คสช. ยอดค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มจากเดือนละ 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดค้ำประกันคงค้างอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท จากที่ค้ำประกันไปแล้วทั้งสิ้น 2.5 แสนล้านบาท" นายวัลลภกล่าว