วสท.ตามรอยพ่อ นำแนวทางพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักในการทำงานรับผิดชอบต่อสังคม จัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ ปี 2559 แชร์ความรู้งานวิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ ยุค 4.0 แก่ประชาชน พร้อมร่วมจัดนิทรรศการ “ในหลวงกับงานช่าง” สุดประทับใจกับการแสดงเรือใบซูเปอร์มดลำจริงโดยฝีพระหัตถ์ ระหว่างวันที่ 25 -26 พฤศจิกายน 2559 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ๋

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) เปิดเผยว่า วสท. มีความตั้งใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบในสังคม เสริมสร้างมอบความรู้ และมอบคุณประโยชน์งานวิศวกรรมด้านต่างๆ แก่ส่วนรวม ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงก่อให้เกิดงานสำคัญแห่งปีครั้งนี้ ซึ่งสามารถแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์

“ในฐานะที่ วสท. เป็นองค์กรหลักด้านวิศวกรรมเพื่อสังคม ทำให้เราเล็งเห็นถึงความปลอดภัยวิศวกรรมสาธารณะในปัจจุบัน หรือ ยุค 4.0 นั้นมีตวามสำคัญต่อประเทศชาติ ด้วยความรับผิดชอบของวิศวกรในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ กับการกำกับดูแลมาตรฐานการออกแบบ การติดตั้ง การรักษาซ่อมบำรุงเพื่อให้ระบบงานวิศวกรรมทำงานได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัยต่อบุคคล สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดเจตนารมณ์ในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้ และประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

นอกจากนี้ วสท. มีความตั้งใจแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการจัดนิทรรศการ “ในหลวงกับงานช่าง” ซึ่งรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือใบพร้อมนำเรือใบซูเปอร์มดลำจริงที่พระองค์ได้ทรงต่อด้วยตัวเองมาแสดงในงานโดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมอู่ทหารเรือ รวมทั้งเชิญวิศวกรผู้เคยทำงานสนองพระราชดำริภายใต้หัวข้อโครงการวิศวกรรมตามรอยพระบาท มาร่วมเผยแพร่ความประทับใจ และประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสจากการทำงานร่วมกับพระองค์

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ คือการนำเสนอข้อมูลวิชาการด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม โดยสร้างความเข้าใจ และเห็นความสำคัญในการนำหลักวิศวกรรมไปใช้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรฐานที่พึงบังคับใช้ เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินแก่ส่วนรวมต่อไปในอนาคต ซึ่งรูปแบบการจัดงาน EIT TALK เต็มไปด้วยบุคลากรผู้ทรงวุฒิหลากหลายสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมต่างๆ ร่วมถ่ายทอดความรู้ในนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้หัวข้อ การสื่อสารด้วยโดรน การใช้หุ่นยนต์ในการผลิตรวมถึงใช้งานในชีวิตประจำวัน การใช้ระบบเน็ตเวิร์ค การโจรกรรมข้อมูล การก่อการร้าย ระบบขนส่งมวลชน ความปลอดภัยระบบไฟฟ้า ระบบการขนส่งภายในอาคาร อย่าง ลิฟต์ และบันไดเลื่อน ซึ่งความรู้เหล่านี้ประชาชนสามารถนำไปใช้ และระมัดระวังในชีวิตการทำงาน และชีวิตประจำวัน

อีกทั้งแนวทางปฏิบัติของวิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ ยุค 4.0 ประกอบด้วย 1.) วสท.มีหน้าที่คอยส่งเสริมให้ความรู้ และจัดการอบรมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับรู้ถึงความสำคัญของกฎหมายที่ควรปฏิบัติในการทำงานอยู่เสมอ 2.) ประชาชนควรรู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านวิศวกรรมต่างๆ 3.) ประชาชนสามารถเรียกร้องมาตรฐานของความปลอดภัยด้านวิศวกรรมที่ส่งผลต่อชีวิตตัวเอง และส่วนรวมได้ 4.) หน้าที่ของประชาชนควรศึกษา และรับทราบข้อมูลพื้นฐานความปลอดภัยของงานวิศวกรรมต่างๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก : วิศวกรรมแห่งชาติ ปี 2559