ปลัดคมนาคมจี้หน่วยงานราชการเบิกจ่ายงบค้างท่อปี’57 ยังเหลืออีกกว่า 6.9 หมื่นล้าน เผยปี’58 ได้รับงบฯ 1.46 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 10.35% ทางหลวงนำโด่ง 6.1 หมื่นล้าน ทางหลวงชนบทกว่า 4 หมื่นล้าน การรถไฟฯไม่น้อยหน้าทะลุ 1.9 หมื่นล้าน เร่ง 3 หน่วยงาน”บขส.-ขสมก.”เคลียร์พื้นที่ย่านพหลโยธิน ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง”บางซื่อ-รังสิต” นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ประชุมติดตามงานในส่วนของหน่วยราชการ เพื่อถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติตามนโยบาย คำสั่ง และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมทั้งติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2557 วงเงิน 133,015.13 ล้านบาท ซึ่งมีผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 63,308.96 ล้านบาท หรือ47.60% โดยการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 8,366.17 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 69,707 ล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นเดือนกันยายนี้จะเบิกจ่ายได้ถึงประมาณ 70-75% ใกล้เคียงกับเป้าหมายของรัฐบาล สำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 นั้น ทางกระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ วงเงินรวม 146,781.4206 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 13,766.2880 ล้านบาท หรือ10.35% โดยแยกเป็น 1.งบประมาณสำหรับส่วนราชการ จำนวน 112,382 ล้านบาท แยกเป็นงบประจำ จำนวน 11,694 ล้านบาทและงบลงทุน จำนวน 100,687 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้สูงสุดได้แก่ กรมทางหลวง(ทล.) จำนวน 61,378 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 40,596 ล้านบาท กรมเจ้าท่า(จท.) จำนวน 4,818 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) จำนวน 2,911 ล้านบาท กรมการบินพลเรือน(บพ.) จำนวน 1,708 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จำนวน 513 ล้านบาทและสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 454 ล้านบาท และ2.งบประมาณสำหรับรัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรอยู่ที่ 34,399 ล้านบาท แยกเป็นงบประจำ 26,240 ล้านบาทและงบลงทุน จำนวน 8,158 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ได้รับจัดสรรสูงสุดอยู่ที่ จำนวน 19,298 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จำนวน 9,664 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จำนวน 3,500 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จำนว 1,700 ล้านบาท ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องพัฒนา เช่น ถนน รถไฟ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาช่องทางเข้า–ออกประเทศในเรื่องการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารการพัฒนาท่าอากาศยาน ทั้ง 28 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังล่าช้า “จะต่อยอดการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้างผิวทาง โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมของอุตสาหกรรมยางพาราที่ล้นตลาด ตั้งแต่ปี 2558 นี้กรมทางหลวงจะนำมาขยายผลมาใช้งานมากขึ้น“ นางสร้อยทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะผิดกฎหมาย โดยกรมการขนส่งทางบก ได้เปิดพื้นที่สำนักงานขนส่ง เมื่อวันที่ 19 - 20 กรกฎาคม ที่ผานมา ให้บริการตรวจสอบรถตู้โดยสารที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือไว้ จำนวน 5,549 คัน เพื่อรับสติ๊กเกอร์อนุญาตให้บริการนั้น มีรถตู้ที่ลงทะเบียนมาตรวจสภาพเพื่อรับสติ๊กเกอร์ จำนวน 3,643 คัน มีผ่านเกณฑ์ จำนวน 2,609 คัน ซึ่งรถตู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้วจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องในการเดินรถต่อไป ส่วนรถตู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1,034 คัน ให้กลับไปแก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกต้องและมารับการตรวจสภาพใหม่อีกครั้งตามวันที่กำหนด ในขณะเดียวกันปลัดกระทรวงคมนาคม ยังได้ติดตามปัญหาการจัดสรรพื้นที่บริเวณย่านพหลโยธินด้วย เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่จะใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวมาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ โดยผลสรุปในที่ประชุมให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ การรถไฟฯ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และขสมก. เร่งจัดทำแผนการย้ายสถานีขนส่งโดยสารที่หมอชิตใหม่ไปยังพื้นที่ใหม่ พร้อมกับ มอบหมายให้สนข. จัดทำแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการจราจร โดยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อมารองรับการเดินทางในบริเวณดังกล่าวด้วย หลังจากที่ได้มีการย้ายไปยังที่ใหม่แล้ว คาดว่าจะย้ายออกทั้งหมดภายในปี2560 พร้อมกับการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่จะทำการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่ ประกอบด้วย บริเวณเมืองทองธานี ,บริเวณรังสิต และบริเวณดอนเมืองฝั่งซ้าย และฝั่งขวา จะใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 100 ไร่ขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคสช.พิจารณา โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าซื้อที่ดิน 1,500 ล้านบาท และค่าก่อสร้างสถานีประมาณ 2,500 ล้านบาท